Social Media For Creative Artists Workshop Part 1 : ประสบการณ์ล้วนๆ

9:22 PM NidNok Koppoets 3 Comments

เมื่อวันอาทิตย์ (18 September 2011) ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเข้าร่วมเวิร์กชอป Social Media for Creative Artists เป็นส่วนหนึ่งของ "การชุมนุมทางความคิดประจำปี หรือ Creativity Unfold, 2011" (#Cu2011) คิดว่ามีประโยชน์ดี ก็เลยมาบันทึกเอาไว้ในบล็อกเผื่อจะมีประโยชน์กับใครต่อใครบ้าง


ย้อนความไปที่การสมัครก่อน คือจริงๆ ตัว Creative space workshop ที่จัดขึ้นทั้งหลายแหล่เนี่ย เราสามารถเข้าร่วมได้ฟรี แต่ทางผู้จัดเขากำหนดกติกาเอาไว้นิดหน่อยว่า คุณจะต้องจ่ายเงินมัดจำกันเบี้ยวเอาไว้ก่อน 1000 บาทสำหรับคนทั่วไป และ 500 บาทสำหรับนักเรียน นักศึกษา แล้วถ้าคุณเข้าร่วมกิจกรรมจนจบ ก็จะได้เงินคืนไปเต็มๆ เป็นวิธีการที่ได้ผลดี เพราะเท่าที่ดูจากในห้องเรียนที่เราเข้า คนมากันแน่นห้อง และส่วนใหญ่ก็อยู่กันจนจบ


พอได้รู้ข่าวเรื่องกิจกรรมนี้ก็รีบเปิดหา Workshop ที่น่าสนใจที่มีให้เลือกหลายแขนง เช่น ด้านการทำหนังสือก็อยากเข้าของ Computer Arts (สมัครไม่ทัน ฮือออ) ด้านหนังก็มีของเป็นเอก ว่าด้วยหนังใหม่ของแก "ฝนตกขึ้นฟ้า", Third Class Citizen ของพี่เต๋อพี่ต่อก็มาในหัวข้อ "อินดี้แต่แมส" สุดท้ายหาที่ลงตัวได้ก็คือ SM for creative artists อันนี้แหละ ส่วนวิธีการสมัครไม่ค่อยเข้าใจมาก เพราะฝากเพื่อนที่ทำอยู่ TCDC ช่วยสมัครให้ ก็ต้องขอบพระทัยมา ณ ที่นี้ด้วย :)

ตัดภาพมาที่ Workshop เลยละกัน กิจกรรมเริ่มต้นตอนบ่ายโมงตรง หนุ่มสาวก็ทยอยมาลงทะเบียนกันให้คึกคัก ทุกคนแบกโน๊ตบุ๊กมาคนละตัว (เป็นกติกาที่เขากำหนดเอาไว้) จากนั้นก็มาจับจองที่นั่งที่เขาจัดเอาไว้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 8 กลุ่ม นั่งโต๊ะไหนก็จะได้ทำงานร่วมกับคนที่เผลอมานั่งโต๊ะเดียวกันนี่หละ

รอไม่นานกิจกรรมก็เริ่ม วิทยากรในช่วงแรกคือคุณ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ (@aceimage) เจ้าของเว็บ Portfolios.net ที่พึ่งของคนสายครีเอทีฟในเมืองไทย การบรรยายในช่วงนี้จะเน้นเรื่องประสบการณ์ของวิทยากรมากกว่า เพราะเท่าที่ฟังคุณเอซแกก็คลุกคลีตีโมงและผ่านโลกดิจิตัลมาพอสมควร จนตกผลึกและเกิดเป็นไอเดียที่ทำให้เกิดเว็บอย่าง Portfolios.net รวมไปถึงเว็บไซต์ แฟนเพจ และแคมเปญในโลกดิจิตัลอีกเพียบ


จบในส่วนของคุณเอซ พิธีกรก็ประกาศว่า พัก 15 นาทีนะคะ มีของว่างทานกันได้เลย เฮ้ย! เรียนฟรีมีของกินด้วย งานนี้ดีจริง ว่าแล้วฉันและคุณป๊อป (ผู้ที่รู้จักกันแบบบังเอิญจากทวิตเตอร์) ก็ไปต่อแถวโซ้ยของว่างกาแฟซะหน่อย เอาให้อิ่มทั้งสมอง อิ่มทั้งท้องไปเลย


จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของวิทยากรรับเชิญ คุณสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล (@jexep) มาสรุปรวบรัดแนวคิดเพื่อให้เราเข้าใจ Digital Culture ดียิ่งขึ้น ก่อนที่เราจะกระโดดลงไปเล่นกับมัน โดยคุณจิ๊บได้ยกตัวอย่างเคสที่ดังๆ ทั้งในระดับเมืองไทยและระดับโลกมาประกอบการบรรยาย บรรยากาศคล้ายการนั่งเรียนวิชามาร์เก็ตติ้งที่อาจารย์พูดเก่งๆ


จบช่วงอาจารย์สอน ก็ต้องลงมือคิดและทำจริง เจ้าโต๊ะที่นั่งกันเป็นกลุ่มๆ ได้ใช้งานก็คราวนี้ แต่ละกลุ่มจะต้องเสนอเรื่องที่อยากจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการช่วยโปรโมท เพื่อให้เป็นที่รู้จัก โดยใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาสองสามชั่วโมงให้เต็มที่ กลุ่มเราได้ไอเดียจากพี่คนนึง เสนอเกี่ยวกับเรื่อง "ดินเดินทาง" คือพี่เค้าทำธุรกิจเกี่ยวกับเซรามิค และจากประสบการณ์ที่ได้เห็นในอเมริกา ที่นั่นค่อนข้างจะส่งเสริมให้เด็กๆ ได้จับดิน เล่นดินที่เป็นดินจริงๆ ไม่ใช่ดินสังเคราะห์อย่างดินน้ำมันและอื่นๆ พี่เค้าก็เลยลองคิดดูเล่นๆ ว่า งั้นเราน่าจะทำเป็นบริการเอาดินไปให้เด็กๆ เล่น ให้ปั้นกันให้เต็มที่ จากนั้นเราจะเอามาเผา มาเคลือบ แล้วก็ส่งให้เด็กๆ เป็นที่ระลึก

เราว่าน่าสนใจมากเพราะธุรกิจนี้มันเล่นได้จากหลายแง่ คือจะพูดในเชิงว่ามันเป็นสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ เป็นการส่งเสริมทฤษฎีการเรียนรู้ของเด็กก็ได้ เอาเรื่องธรรมชาติมาจับก็ได้ มุมของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ได้ คือเอาจริงๆ ถ้าเอาโปรเจ็คต์มาเหลาให้คมๆ ล่ะก็น่าจะรุ่งได้ไม่ยากนะ



ทีนี้กลุ่มเราก็เริ่มระดมสมองกันว่า แล้วจะเอาโปรเจ็คต์นี้มาเล่นกับ Social Media ได้ยังไง ต่างคนก็ต่างเสนอกันมาหลายทาง อาจจะมีหลงประเด็นไปบ้างเพราะเราไปเสียเวลากับคอนเซ็ปต์ของธุรกิจมากไปหน่อยจนไม่มีเวลามาคิดเรื่องวิธีการสื่อสาร แต่ถ้ามองข้ามเรื่องนั้นไป ฉันว่ามันดีมากที่ได้ฟังความเห็นจากเพื่อนร่วมกลุ่มที่หลากหลาย ทุกคนมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่พร้อมจะแชร์ น่าเสียดายที่มีเวลาให้คุยกันน้อยไปหน่อย

หมดเวลาการประชุมกลุ่มก็ต้องออกไปนำเสนองานหน้าห้อง มีเวลานำเสนอกลุ่มละ 2 นาที (โฮ่ย!) เมื่อครบทุกกลุ่มวิทยากรทั้งสองท่านก็เลือกโปรเจ็คต์ผู้ชนะ ได้รางวัลเป็นคำแนะนำคอนซัลต์จากคุณเอซ 2 ชั่วโมง ซึ่งโปรเจ็คต์นั้นก็คือชุมชนคนรักหนัง Movie Museum ของกลุ่มที่นั่งข้างหลังเรา :)


จบงานอย่างเป็นทางการ กลุ่มฉันก็มีการแลกเบอร์แลกนามบัตรกันให้คึกคัก ไอ้เราไม่มีนามบัตรกับเขาก็เขียนชื่อเขียนเบอร์ไปตามเรื่อง ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีโอกาสได้ติดต่อกันอีกหรือเปล่า อย่างไรเสียครั้งหนึ่งเราเคยได้ร่วมโต๊ะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ดวงชะตาเราคงต้องกันไปแล้วล่ะ ^^

พล่ามแพล่มมายาวเหยียด ทั้งหมดนั้นคือลำดับซีเควนซ์สิ่งที่เกิดขึ้นใน Workshop นะคะ ที่จะได้อ่านในบล็อกลำดับถัดไปคือเลคเชอร์ที่เราพิมพ์ไว้ล้วนๆ (Workshop ยุคดิจิตัลนี่นะ ก็ต้องบันทึกแบบดิจิตัล ฮี่ๆ) อ่านรู้เรื่องไม่รู้เรื่องอย่างไรก็ขอได้โทษสกิลชวเลขของข้าเจ้าด้วย

ขอให้ทุกท่านอิ่มเอมกับการเรียนรู้ :)