Countdown: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
Countdown (2012, นัฐวุฒิ พูนพิริยะ, GTH, B-)
*บทความนี้อาจลดทอนอรรถรสก่อนชมภาพยนตร์ ควรชมก่อนอ่าน
เป็นหนังที่คาดหวังไว้เยอะจากเทรลเลอร์ แม้จะทำให้นึกถึงพวก
Funny
Games (1997,2007) นิดๆ แต่ก็คิดว่ามันต้องแตกต่างและมีอะไรมากกว่านั้น ยิ่งด้วยหน้าหนังแล้วมันขัดแย้งกับความเป็น
GTH
มากๆ ยิ่งทำให้น่าดู แต่ความรู้สึกหลังดูจบ มันก็ไม่ได้อะไรขนาดนั้น...
หนังแบ่งได้เป็นสามส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกเป็นความสว่างไสว ดูได้แบบไม่ต้องเกร็งร่าง
เป็นช่วงที่เราสบายใจ แล้วก็จะรอว่าเมื่อไหร่แม่งจะตีกันซักที จากนั้นจึงเข้าสู่ส่วนที่สอง
เป็นส่วนที่เราเห็นในเทรลเลอร์นั่นแหละ ไม่มีอะไรมากกว่านั้นเท่าไหร่ จะเบากว่าด้วยซ้ำไปเพราะมันมีจังหวะผ่อน
ไม่ได้ผ่างๆๆ เหมือนในตัวอย่าง ช่วงที่สองผ่านไปอย่างรวดเร็ว (มันก็มีเท่าในเทรลเลอร์จริงๆ
นะ) สู่ช่วงที่สาม เป็นช่วงเฉลย ว่าทำไมถึงต้องมาตีกันระห่ำแตก เป็นช่วงคลี่คลาย และเป็นช่วงที่เราว่าคนอยากรู้ตั้งแต่ดูเทรลเลอร์แล้วว่า
ทำไมวะ ทำไมแม่งต้องมาตีกันขนาดนี้
ซึ่งไอ้ช่วงที่สามของหนังนี่แหละที่ฉันว่ามันเป็นปัญหา และฉุดความประทับใจที่มีต่อหนังลงมาเลย
ความรู้สึกในตอนนั้นมันแบบ เฮ้ย! อ้าว! ฮะ! อย่างนี้เลยเหรอ! หืม! ไม่เอาน่า! จากนั้นก็ไม่อินแล้ว
รู้สึกแปลกๆ และไม่เชื่อหนังไปเลย จะอย่างไรเดี๋ยวจะว่ากันต่อไป
เราว่าเราเข้าใจจุดประสงค์และความตั้งใจของผู้สร้างนะว่าต้องการจะสื่ออะไร
และประเด็นเรื่องวัยรุ่นเจน Y - Z คนรุ่นที่เติบโตมาโดยพ่อแม่ยุคหลังเบบี้บูม ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบพิถีพิถัน และหวังให้ลูกสบายและได้ในทุกสิ่ง
นี่ก็น่าสนใจมาก เพราะเท่าที่เห็น ยังไม่มีหนังเรื่องไหนที่เล่นกับเรื่องนี้ตรงๆ
(แบบที่สร้างตัวละครสามตัวที่มีพื้นฐานเหมือนกันหมดขนาดนี้มาเดินเรื่อง) แต่พอเข้าช่วงท้าย
กลายเป็นว่าหนังเอาเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวด้วย
ซึ่งก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์เท่าไหร่หรอก เพราะตั้งแต่ตัวอย่างเราได้เห็นตัวละคร “เฮซุส”
ที่อาจจะตั้งใจให้นึกถึงพระเยซู (ความจงใจอีกอย่างคือหน้าตาผู้แสดง)
แต่พอถึงจุดนั้นจริงๆ วิธีการที่หนังเอาศาสนาเข้ามาคลี่คลาย มันน่าผิดหวังไปหน่อยในแง่ของการนำเสนอ
มันประหลาดมาก (และเราก็ขำออกมาเลย) ในฉากที่ให้ท่องศีลห้า
คือเราไม่แน่ใจแล้วว่าฉากนั้นตั้งใจให้ฮา หรือว่าซีเรียส
มันเหมือนจะเสียดสีแต่มันก็ไปไม่ถึง มันเป็นเป็นซีนที่กระอักกระอ่วนมากสำหรับเรา
แม้ว่าถ้าคิดอีกทางคือทุกอย่างมันเกิดขึ้นในจิตตัวละครได้หมดเลยเพราะว่าแม่งเมายา
แต่มันก็ยังเป็นความหลอนที่ประหลาดมากอยู่ดี
ปัญหามันคงอยู่ที่ความตั้งใจที่จะสอนมากจนเกินไป
ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะด้วยแบรนด์ GTH มันต้อง feel good อยู่แล้ว
และแฟนคลับของค่ายนี้ก็เป็นวัยรุ่นซะมาก และด้วยจุดตั้งต้นของหนังมันมาแรงไปแล้ว
คือมีทั้งคำหยาบ ฉากเซ็กส์ เล่นยา ฯลฯ มันไปจนสุดทางบาปแล้ว
ดังนั้นเมื่อจะต้องกลับลำ มันเลยต้องกลับให้สุด
เป็นการเพลย์เซฟอีกครั้งแต่เปลี่ยนลีลา สุดท้ายที่เราตั้งใจไว้ว่าจะได้เห็น GTH
ในลุคอื่นบ้างก็เป็นอันฟาวล์ไป
ซึ่งจริงๆ เราว่าด้วยศักยภาพของคน GTH คงคิดอะไรไปไกล และล้ำกว่าที่เราคิดเยอะ และหนังก็อาจจะไม่ได้อยากจะออกมาในรูปนี้ก็ได้มั้ง เพราะการที่จะให้บทส่งท้ายของหนังให้แง่คิด ให้คนดูกลับไปคิดเนี่ยมันเป็นไปได้หลายทางมาก และในหลายทางนั้นน่าจะเป็นทางที่มีชั้นเชิงมากกว่านี้ แต่ปัญหาอาจจะอยู่ที่การ “ประเมิน” คนดูหนังเอาไว้ว่า ประมาณนี้แหละที่พวกเขาน่าจะย่อยได้ ลืมความรุนแรงเมื่อตอนต้นเรื่อง และเก็บเกี่ยวตอนจบกลับบ้านไป สภาพของหนังมันก็เลยออกมาอย่างที่เห็น
เพราะไอ้ส่วนที่สามนี่แหละที่ทำให้ฉันไม่ค่อยจะประทับจิตกับหนังเท่าไหร่
แต่กับประเด็นเรื่องเด็กที่โดนสปอยล์นี่ฉันยังคงคิดว่ามันน่าสนใจมาก และไอ้ความสปอยล์เนี่ยมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเป็นลูกคนรวยนะ เราว่าเด็กในยุคนี้
(ซึ่งไม่รู้แล้วว่าในทางมาร์เก็ตติ้งเขาบัญญัติไปถึง Gen ไหนแล้ว) อาจจะรวมถึงชาว Gen
Y
อย่างเราด้วย แม้พ่อแม่จะไม่ได้ร่ำรวย แต่คอนเซ็ปต์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่รุ่นนี้จะเหมือนกัน
เพราะว่าคนรุ่นพ่อแม่ก็เป็นทั้งคนเบบี้บูมบ้าง และลูกของเบบี้บูมบ้าง
ดังนั้นพ่อแม่จะรู้ทั้งด้านที่ลำบากและด้านที่สบาย เมื่อมีลูก
ก็อยากให้ลูกได้ในสิ่งที่ตัวเองฝัน ไม่ต้องมาร่วมสร้างอะไร
พ่อแม่จะสร้างให้แล้วเจ้าจงมาสานต่อดูแล ความอยากได้อยากมีมีมาก
เด็กอยากได้และพ่อแม่พร้อมจะให้ ด้วยคอนเซ็ปต์มันเหมือนกัน เพียงแค่คนรวยก็จะมีกำลังส่งลูกไปได้ไกล
และง่ายกว่า ผลคือเด็กยุค Y - Z และหลังจากนั้น มีแนวโน้มที่จะได้รับการเลี้ยงดูทำนองนี้เข้มข้นยิ่งขึ้น
ในทางธุรกิจ ก็มีสินค้าและบริการต่างๆ
ออกมาตอบรับความต้องการของพ่อแม่ยุคนี้ต่อการเลี้ยงลูก ความสบายเกินไปกลายเป็นความคึกคะนอง ตามใจตัวเอง
และไม่แคร์กับอนาคตมากนัก เพราะสุดท้ายเด็กจะรู้อยู่เสมอว่ามีคนคอยซัพพอร์ต
มีฟูกนุ่มๆ รอรับอยู่ตลอด ซึ่งถ้าดูจากหนัง
เราจะเห็นเด็กที่ทำผิดแล้วพ่อแม่พร้อมที่จะเคลียร์ทุกอย่างให้,
เด็กที่ได้เงินไปเรียนเมืองนอกแบบไม่ต้องรีพอร์ทอะไรกับพ่อแม่เลย,
เด็กที่มีสินค้าแห่งยุคทุกอย่างครบถ้วนด้วยเงินที่พ่อแม่ส่งมาให้
มันก็คงจะเป็นแนวโน้มของสังคมต่อไป แล้วก็จะเกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ของปัญหาสังคม
ที่ไม่ว่าเราจะรวยจน เราก็เป็นส่วนของปัญหาพวกนี้
อยากจะเห็น Director’s cut เหมือนกัน
อาจจะไปได้สุดทางกว่านี้ก็ได้ นึกแล้วก็เสียดายจริงๆ นะ
นึกว่าจะได้ดูทริลเลอร์จิตป่วงไร้เหตุผลปนความเมายาแบบไทยแท้ๆ
สุดท้ายก็กลายเป็นนิทานอีสป นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…
ปล. เต้ยคือส่วนที่ดีที่สุดของหนัง แม้จะมีบางช่วงที่มันแปร่งๆ ไปบ้าง แต่เป็นปัญหาที่บทมากกว่าการแสดงของเต้ย ขอให้เต้ยได้บทดีๆ เช่นนี้ตลอดไปในชีวิตนักแสดงของเธอ
ปล2. อยากเสพความสะใจ โหดร้าย ป่าเถื่อน แบบลืมความเป็นมนุษย์ไปเลย จงหา Funny Games มารับชม