The Perks of being a wallflower : เราต่างก็เคยมีจุดสุดยอดกันทั้งนั้น…
The Perks of being a wallflower (2012, Stephen Schbosky, A+)
ปล. บทความนี้ตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ Filmnorama นิตยสาร Barefoot ฉบับเดือนธันวาคม 2555
ปล. บทความนี้ตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ Filmnorama นิตยสาร Barefoot ฉบับเดือนธันวาคม 2555
นับจาก “เด็กหอ” (2006) ก็ไม่ได้รู้สึกชอบหนัง Coming of Age เรื่องไหนเลยมาจนกระทั่งได้ชม The Perks of being a wallflower ในโรงหนังเมื่อเดือนก่อน มันคือ Stand by me ที่โตขึ้นและไม่ได้มีแต่เด็กผู้ชาย มันคือ Glee ที่ย้อนกลับไปสิบปี และวัยรุ่นในเรื่องไม่ได้ชอบร้องเพลงและเต้น และมันคือแฟนฉัน ที่ไม่ได้มีใครเป็นเหา…
The Perks of Being a wallflower เป็นหนังแนว “ข้ามผ่านวัย” (Coming of Age) ที่ไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยพล็อตที่อภินิหารพิศดารอะไรเลย หากแต่เล่าเรื่องธรรมดาๆ ที่วัยรุ่นอเมริกัน (และอื่นๆ ทั่วโลก) ต้องเคยมาผ่านไม่ว่าจะในแง่มุมของตัวละครไหน หนังเล่าเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นโรงเรียนมัธยมปลายแบบอเมริกัน ซึ่งเราก็คงชินตากันอยู่แล้วกับบรรดาคาแรกเตอร์เจ้าประจำที่ได้เห็นอยู่เสมออย่าง นักกีฬาฟุตบอลรูปหล่อ, เด็กเนิร์ด, เด็กเกเรที่ไล่แกล้งคนตรงโถงทางเดิน, เด็กกิจกรรมและแอคทิวิสต์ทั้งหลาย, เกย์, เด็กสาวใจแตก และเด็กธรรมดาๆ ที่ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะหาคำอธิบายอะไรมาเติมให้ดูน่าสนใจ สำหรับเราที่อยู่อีกฟากฝั่งของโลก แม้ว่าจะไม่ตรงมากนัก มันก็คล้ายคลึงและพอจะสะท้อนภาพชีวิตวัยเรียนของเราได้ และสำหรับช่วงเวลานั้น ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ อย่างไรเราก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการผ่านพ้นมันไป และบางที นี่ก็คือส่วนที่ยากที่สุด
ชาร์ลี (Logan Lerman) เด็กหนุ่มวัยสิบห้าปี ที่เพิ่งจะเข้ามาเป็นน้องใหม่ในไฮสคูลแห่งนี้ เขาไม่มีเพื่อนและยังไม่คิดอยากจะมี เขาแค่อยากจะผ่านสี่ปีในโรงเรียนมัธยมปลายไปอย่างเงียบเชียบมากที่สุดก็เท่านั้น แต่ด้วยอะไรก็แล้วแต่ ชาร์ลีได้มาบังเอิญเป็นเพื่อนกับ แซม (Emma Watson) และ แพททริค (Ezra Miller) รุ่นพี่ปีสี่ ที่กำลังสนุกกับการใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของการเป็นนักเรียนให้เต็มที่ และพวกเขาก็ได้เร่งเวลาและพาชาร์ลีเข้าไปในโลกแห่งการเป็นนักเรียนปีสุดท้าย ที่ที่ชาร์ลีได้รับบทเรียนมากมาย เขาได้เมา ได้พ่นควัน ได้ฟังเพลงใหม่ๆ ได้อ่านหนังสือดีๆ ได้ตกหลุมรัก ได้จูบ ได้มีแฟน เขาเติบโตขึ้นจากวันแรกที่เข้ามาในโรงเรียนนี้ แต่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อ “ดอกไม้บนกำแพง” ที่แต่เดิมมันจะอยู่บนกำแพง เฝ้ามองทุกสิ่งและเข้าใจ เริ่มเข้ามา “มีส่วนร่วม” กับสิ่งต่างๆ มากขึ้น เข้ามาเป็นผู้เล่นมากขึ้น ก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะตามมาให้ได้ว่า ไม่ว่ามันจะคือความสุข ความสนุก ความเศร้า ความทุกข์ หรือเป็นบางเรื่องที่ไปสะกิดแผลเก่าของเราให้เจ็บขึ้นมาใหม่ มันก็คือแรงสะท้อนจากสิ่งที่เราได้ทำ และเราก็จะต้องจัดการกับมันให้ได้
ครึ่งหลังของหนังจึงเป็นการเล่าถึงชาร์ลีในฐานะ “ผู้เล่น” เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งรอบข้าง เรียนรู้ที่จะสัมพันธ์ตัวเองเข้ากับสิ่งต่างๆ อย่างข้องเกี่ยวมิใช่เพียงเฝ้ามอง และมันก็พาความยุ่งยากบางอย่างมาให้เขาทดสอบตัวเองที่จะแก้มันให้ได้ แน่นอนว่า การข้ามผ่านปัญหาแห่งวัยคือวิชาภาคบังคับของหลักสูตรการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และยิ่งเมื่อมันเข้ามาทดสอบเราในช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น วัยที่มีประสาทรับรู้สิ่งต่างๆ ทำงานได้ดีจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า อ่อนไหวเกินกว่าปกติ ย่อมทำให้เราเจ็บปวดมากขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อเรามองย้อนกลับไป หลายเรื่องที่เกิดกับเราในช่วงวัยรุ่น อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยน่าขำขัน แต่ในอีกช่วงเวลา ตัวเราในตอนนั้นกลับจ่อมจมอยู่กับมัน ให้ความสำคัญกับมัน ขมขื่นไปกับมัน และก็เฝ้าบอกกับตัวเองว่า นี่คือบาดแผลที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต
นี่แหละคือเสน่ห์ของหนัง Coming of Age ที่นอกจากคนในวัยเดียวกับหนังจะได้ดูและอินไปกับมันแล้ว มันยังทำให้คนที่ได้ผ่านช่วงวัยนั้นมาแล้วได้มองย้อนกลับไปดูตัวเอง สำรวจความคิดและวิธีการจัดการกับสิ่งต่างๆ ของตัวเราเองในตอนนั้น เราอาจจะเอ็นดูกับบางสิ่ง ส่ายหัวให้กับบางเรื่อง หรือหัวเราะชวนหัวกับบางเหตุการณ์ แต่อย่างไรเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นั่นคือช่วงวัยที่ทรงพลัง เรารู้สึกมากมายกับทุกอย่าง เราพาชีวิตไปจนสุดทางกับบางอย่าง ก่อนที่เราจะได้รับบทเรียน ก่อนที่เราจะเริ่มสร้างเกราะกำบัง ก่อนที่เราจะโตเป็นผู้ใหญ่ วัยที่ชีวิตต้องดำเนินไปตามเงื่อนไขที่เราก็ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนสร้างขึ้นมา
The perks of being a wallflower เคยเป็นหนังสือขายดิบขายดีเมื่อปี 1999 เขียนโดย Stephen Chbosky และสิบกว่าปีให้หลัง เขาคนนี้ก็หยิบงานของตัวเองมาถ่ายทอดเป็นหนัง โดยตัวเองเองรับหน้าที่เป็นทั้งคนเขียนบท โปรดิวเซอร์ และกำกับภาพยนตร์ นี่จึงเป็นงานที่กลั่นออกมาจากตัวตนของผู้กำกับคนนี้อย่างแท้จริง หนังของเขาซื่อสัตย์กับตัวหนังสือที่เขาเขียนมาก เหมือนเราได้เห็นตัวละครที่เรารักมีชีวิตขึ้นมาจากหยดหมึกในหน้ากระดาษ และยังคงบรรยากาศ อารมณ์ และบทสนทนาสำคัญๆ เอาไว้อย่างครบถ้วน ถือเป็นรสชาติที่กลมกล่อมเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเราจะได้รับประสบการณ์ของเรื่องนี้ผ่านหนังสือหรือหนังก็ตาม
Logan Lerman ทำให้บทชาร์ลีเป็นเด็กธรรมดาที่ธรรมดาจริงๆ เขาเป็นเด็กติ๋มที่ดี และเราจะมองเห็นการเติบโตของตัวละครนี้ผ่านแววตาของเขา, Emma Watson เป็นแซมที่มีแววตาเซ็กซี่ แต่ก็หมองหม่นและดูเหมือนว่ามีบาดแผลอยู่เต็มตัวเธอไปหมด และคนที่สำคัญที่สุดที่ดูเหมือนจะว่าเป็นเหมือนแสงสว่างของหนังเรื่องนี้ก็คงต้องยกให้ Ezra Miller การแสดงของเขาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และสำหรับหนังเรื่องนี้ก็ต้องถือว่า เป็นการแสดงที่ดีในระดับน่าจดจำ
เพลงประกอบของเรื่องนี้เป็นเพลย์ลิสต์เพลงดังในยุค90 ของวัยรุ่นอเมริกัน อาจมีบ้างบางเพลงที่คุ้นหูคนไทยอย่างเรา งานด้านภาพทำได้ดีมาก และไม่ได้ดูประดิดประดอยหรือจงใจจนเกินไป ฉากที่น่าจดจำที่สุดคงเป็นฉากสุดท้ายในอุโมงค์ ที่งานภาพกับเพลงประกอบ “Hero” ของ David Bowie มาทำปฏิกิริยาต่อกัน แล้วจุดชนวนด้วยการแสดงที่เป็นธรรมชาติมากของผู้แสดงนำทั้งสามคน ระเบิดออกมาเป็นฉากที่ทรงพลัง รถกระบะคันนั้นมุ่งหน้าออกจากอุโมงค์ไป ที่ปลายทางอาจมีแสงไฟหรือความมืดมิดรอพวกเขาอยู่ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ มิตรภาพ การปลดปล่อย และความรู้สึกแห่งอิสระที่พวกเขากำลังรู้สึกอยู่นั่นต่างหาก ที่เป็นสิ่งยืนยันว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์ในการครอบครองวัยแห่งความทรงพลัง อย่างน้อยก็ในเวลานั้น และนั่นก็คือช่วงเวลาที่สุดยอดที่สุดในชีวิตคนเรา
แล้วช่วงเวลาที่สุดยอดของคุณล่ะ คือตอนไหน พอจะนึกออกไหม?
เพลงในฉากอุโมงค์อันแสนจะโด่งดัง Heroes - David Bowie จ้ะ