เกรียน ฟิคชั่น: วัยรุ่นจงเจริญ!

9:47 PM NidNok Koppoets 0 Comments

เกรียน ฟิคชั่น (2013, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, A) 



มันมีความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้นในหัวขณะดู "เกรียน ฟิคชั่น" เพราะในขณะที่เราสนุกไปกับหนัง (มันเป็นหนังที่ดูสนุกจริงๆ อยากจะตามต่อตลอดว่าแล้วมันจะเป็นยังไงวะ) เราก็ยังต้องคิดและตั้งคำถามกับตัวเองหลายๆ เรื่อง คิดถึงตัวละคร เดาใจพวกเขา บางทีก็ข้ามเส้นไปตัดสินพวกเขา ก่อนจะเราจะโดนบทหนังที่คิดเอาไว้ดีแล้วตีความคิดเรากลับมาอีกทีนึง สนุกมาก หัวสมองไม่ได้หยุดคิดเลย 

ชีวิตวัยรุ่นในเรื่องไม่ได้แบนแบบที่เขียนมาจากผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลาง ที่จินตนาการชีวิตวัยรุ่นว่ามันต้องวุ่นกับความรัก โดดเรียน แกล้งครู หมกมุ่นในเซ็กส์อย่างบ้าคลั่ง คือไอ้กิจกรรมพวกนี้วัยรุ่นชั้นกลางทั่วไปก็ต้องเคยผ่านมาหมดแหละ เพียงแต่มันแบนเกินไป มันเป็นการมองในมุมที่ตัดสินเกินไปหน่อย ซึ่งในเกรียนฟิคชั่นเราได้เห็นชีวิตวัยรุ่นในมุมที่มีด้านลึกด้านตื้น มีมิติมากขึ้น เป็นวัยรุ่นจริงๆ ที่มีอะไรทำ มีกิจกรรมในชมรมให้ทำ มีกิจกรรมในกลุ่มเป็นการถ่ายคลิปอัพขึ้นยูทูปเรียกไลค์จากประชาชน คุยกันผ่านโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ชีวิตพวกเขาทั้งหมดอยู่ในนั้น มีใครตบกันในโรงเรียนก็ยกโทรศัพท์มาถ่ายกันอย่างเมามัน มีครบทุกมุมกล้อง 360 องศา ซึ่งมันเป็นชีวิตของวัยรุ่นสมัยนี้แหละ แตกต่างจากสมัยเรา แตกต่างจากพ่อแม่เรา เป็นหนังที่บันทึกชีวิตและความคิดของเด็กสมัยนี้เอาไว้ เหมือนที่รุ่นพี่เรามีอนึ่งฯ คิดถึงพอสังเขป, มีโลกทั้งใบให้นายคนเดียว และรุ่นเราก็มี...เออ มีเรื่องอะไรวะ ทำไมถึงไม่รู้สึกว่ามีหนังอะไรเป็นตัวแทนชีวิตวัยรุ่นของเราบ้างเลย 

น้องตี๋ที่ถือเป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่นดีมาก น้องเค้าให้อารมณ์คล้ายๆ พิชในรักแห่งสยาม คือเป็นเด็กที่ดูธรรมดามาก แต่แววตาเศร้า เหมือนกับมีความทุกข์อยู่ตลอด เป็นเด็กหน้าตาใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้หล่อโดดเด่น ทำให้ตัวละครไม่ได้โดดออกมาจากเรื่องจนไม่น่าเชื่อเกินไป ส่วนเพื่อนๆ ในกลุ่ม โอ๊ต, โมน, ม่อน, ต๊อก ก็เล่นโคตรดีเป็นธรรมชาติ เป็นความสามารถเฉพาะตัวของคุณมะเดี่ยวแกจริงๆ ที่สามารถกำกับการแสดงวัยรุ่นได้ดีขนาดนี้ มันเหมือนเอากล้องไปตั้งถ่ายชีวิตพวกเขามากกว่าที่พวกเขามาเล่นให้เราดู เราเชื่อทั้งหมดเลยที่เด็กๆ แก๊งค์เกรียนมันเล่น มันทำ เพราะมันออกมาจากใจจริงๆ 

บทหนังสนุกแล้วก็ฉวัดเฉวียนไปมาระหว่างความสว่างสดใสของวัยรุ่น แล้วก็พาเราไปแตะด้านที่มืดมหมิ่นเหม่ แล้วมันก็พาเรากลับไปใหม่ อย่างฉากละครเวทีที่เป็นจุดเปลี่ยนของตัวละครพลอยดาวและตี๋นั่นเราชอบมากเลยนะ แบบจากอารมณ์ที่กำลังหมั่นไส้น้องพลอยดาวอยู่ว่าอีดอกนี่ กลายเป็นอึ้งและอยากรู้ชะตากรรมของเธอ และตัวละครอื่นๆ ต่อเลย ด้วยพล็อตนี่จะเล่าให้หม่นหมองขนาดรักแห่งสยามก็ทำได้ หรือจะเอาให้หนักกว่านั้นก็ได้ แต่ถ้าแบบนั้นก็ไม่เกรียนอ่ะดิ

เพลงประกอบในเรื่องนั้นโคตรดี เพราะมันเสริมให้ภาพและหนังดูแข็งแรงขึ้นมาก และส่งผลต่ออารมณ์อย่างชัดเจนที่สุด นอกจากนั้น มีอยู่ตอนหนึ่งที่เราชอบมาก และออกจะส่วนตัวไปหน่อย คือเวลาไปเชียงใหม่ทีไร ในหัวเราจะฮัมเพลง "บนถนนหนทางซุปเปอร์ไฮเวย์ หนุ่มพเนจรท่องไปกลางฝัน" อยู่ตลอด เพราะแต่ก่อนพ่อจะชอบเปิดเพลงนี้ (แต่พ่อขับรถลงใต้นะ) พอเริ่มเข้าช่วงที่เป็น Road Movie เล็กๆ แล้วไอ้พวกเด็กๆ มันร้องเพลงนี้ เราขนลุก และน้ำตาซึมเลย แบบมันไม่มีเพลงไหนที่จะเหมาะสมกับการออกเดินทางล่องถนนสายเหนือได้ดีเท่าเพลงนี้อีกแล้ว ขอบคุณที่ำซีนเล็กๆ นี้ให้กินใจเราขนาดนี้ได้ 

อย่างตอน Road Movie นี่มันก็เกือบจะออกทะเลได้เหมือนกันถ้าคุมไม่อยู่ แต่เราว่าคุณมะเดี่ยวแกคุมอยู่ คือถ้ามันเยอะเกินไปกว่านี้มันก็จะย้วยแล้ว และถ้าน้อยกว่านี้การเดินทางของพวกเกรียนก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย เราชอบบทที่เขียนให้แต่ละคนมันมีอารมณ์ของมันในตอนที่จะต้องออกเดินทาง ว่าแบบ เฮ้ย จะสอบกูก็ต้องสอบ เพื่อนกูก็หายไป กูจะไม่ไปก็ไม่ดี แต่ก็อยากไป ใจก็อยากสอบ มันตีกันดี และรสชาติระหว่างการเดินทาง แค่สั้นๆ ช่วงนั้น มันอร่อยและอิ่มใจเพียงพอ ทำให้เรานึกถึงหนัง "เพื่อนไม่เก่า" ที่ก็เล่าอะไรคล้ายๆ แบบนี้ เราจำได้ว่าเราชอบความตั้งใจในเบื้องต้น แต่เชื่อว่าในระหว่างทางหนังมันคงโดนบิดเรื่องไปมา จนรสชาติมันแปร่งๆ แต่มันก็ยังอยู่ในความทรงจำของเราอยู่นะ เรื่องนั้นน่ะ ;) 


มีสองตอนที่เราชอบการตัดต่อมาก อันแรกเป็นซีนเล็กๆ ตอนที่น้องตี๋ไปอยู่พัทยาแล้ว ภาพก็เป็นชีวิตน้องตี๋ผจญภัยอยู่ในซิน ซิตี้ แล้วมันก็ตัดไปที่ไอ้โอ๊ตนั่งเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนสะอาดๆ ขาวๆ เออ มันดูธรรมดาแหละ ที่ตัดเอาฉากมืด-สว่าง มาต่อกันแบบนั้น แต่มันมาถูกเวลา จากไอ้โอ๊ตที่ดูเกรียนๆ ดูหงอและอ่อนไปเลยถ้าต้องมาเจอชีวิตจริงแบบที่ตี๋เจอ ส่วนอีกตอนเป็นตอนที่จะเฉลยความสัมพันธ์ระหว่างทิพย์ - ตี๋ มันเหมือนกับว่าจะเลือกเฉลยตอนอื่นก็ได้ ทำให้เป็นแบบอื่นก็ได้ แต่คนตัดและผู้กำกับเลือกที่จะวางมันเอาไว้ตรงนี้ แทรกๆ เข้ามา มันถูกที่ถูกเวลาดี 

ตอนจบของหนังมันก็คล้าย กับข้อความที่เราเขียนในเฟรนด์ชิปตอนจบมัธยมเลย มันเป็นภาพกลมๆ แบนๆ ที่เราพอจะนึกออกในตอนนั้นเกี่ยวกับอนาคตของเราหรือเพื่อน ซึ่งมันก็จะมีมิติแบนๆ อยู่แค่นั้นแหละ เป็นภาพฝันที่เราเต็มใจจะฝัน เป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างที่เราจะนึกออก และถ้ากลับไปย้อนอ่านข้อความพวกนั้น เราก็จะเจอว่าเราเดินมาไกลจากตัวเราในตอนนั้นอยู่มาก ความฝันที่เคยถูกบันทึกไว้ หรือจากมุมที่เพื่อนมอง อาจไม่เหมือนเดิมไปแล้ว เราก็เป็นวัยรุ่นที่ค่อยๆ ผุพังเพื่อเรียนรู้ที่จะโต บางทีเราก็ยังไม่แน่ใจว่าเราโตหรือยัง อายุเราอาจจะมากขึ้น ตัวเราโตขึ้น ผ่านอะไรมามากมาย แต่บางทีเราก็นึกภาพตัวเองในการรับมือกับปัญหาใหญ่ๆ บางอย่างไม่ออก อย่างตัวละครของกิ๊บซี่ ที่เธอก็เป็นวัยรุ่นที่ผุพัง และรอวันที่จะเติบโต เหมือนเรา เหมือนพวกเรานี่แหละ 

ปล. มันทำให้เรานึกถึงหนังหลายๆ เรื่อง อย่าง เมธาวี, Suckseed, รัก 7 ปี ตอน 14 ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นหนังที่บันทึกภาพชีวิตของวัยรุ่ยยุคสมัยนี้ได้ แต่ตอนนี้เรารักเกรียน ฟิคชั่นที่สุดในบรรดาข้างบนนั้นแล้ว ส่วนน้องตี๋ ก็มีบางโมเมนท์ที่เราเผลอคิดว่าเขาคือชาร์ลี แห่ง The Perks of Being a Wallflower หนัง/หนังสือ แห่งวัยรุ่นอเมริกันยุค 90 โอว...Coming of Age จงเจริญ!