Island Etude: สองเท้าเราปั่น เจ็ดวันรอบเกาะ
Island Etude (2007, En Chen, A)
(บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Barefoot ฉบับเดือนเมษายน 2556)
การเดินทางด้วยจักรยานถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่น่าสนใจ ไม่ยากจนเกินไป และออกจะสนุกด้วยซ้ำสำหรับคนที่ขับรถไม่เป็น (อย่างผู้เขียนเป็นต้น) เพราะแม้มันจะพาเราเคลื่อนที่ไปได้ช้ากว่ารถยนต์หรือเครื่องบิน แต่ก็เร็วกว่าการเดิน แม้จะอันตรายอยู่บ้าง แต่เราก็ได้พาตัวเราเข้าไปสัมผัสกับระหว่างทางที่เราเดินทาง สูดลมหายใจ เชิดใบหน้ารับลมที่เข้ามากระทบ ในแบบที่ไม่อาจจะรู้สึกได้หากเรานั่งตากแอร์อยู่ในรถ เราจะได้ยิน ได้เห็น ได้รู้สึก ในอีกแบบที่แตกต่าง ซึ่งจริงๆ ทุกรูปแบบของการเดินทางล้วนมีเสน่ห์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า เราออกแบบการเดินทางของเราเอาไว้เป็นอย่างไหน เราต้องการอะไร และคาดหวังจะได้พบเจอกับอะไรในเส้นทางนั้น
Island Etude (2007) หนังเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความหมายจากไต้หวันเรื่องนี้ เล่าเรื่องของ
“หมิงซาน” (Tung Ming-hsiang)
ชายหนุ่มผู้มีความบกพร่องด้านการได้ยินและการพูดมาตั้งแต่ยังเด็ก ออกเดินทางรอบเกาะไต้หวันโดยมีจักรยานคู่ใจเป็นพาหนะ
พร้อมด้วยสัมภาระอีกเล็กน้อยและกีต้าร์หนึ่งตัวที่เขาพยายามจะหัดเล่น แม้ว่าการได้ยินเสียงของเขาจะไม่สมบูรณ์นัก
เขาเป็นเพียงนักศึกษาที่หยุดเรียนชั่วคราวเพื่อมาเดินทาง และไม่ใช่คนที่ร่ำรวยแต่ก็ไม่ได้ยากจน
การเดินทางรอบเกาะในครั้งนี้จึงเป็นแบบค่ำไหนนอนนั่น กินแต่พอดี
และอาศัยน้ำใจเล็กน้อยจากผู้คนที่พบเจอระหว่างทาง ตลอดเจ็ดวันของเส้นทางปั่น
ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือ เอิง เฉิน (En Chen) ผู้กำกับ เลือกที่จะเล่าเรื่องในแบบกึ่งสารคดี คือ มุมกล้อง ความเป็นธรรมชาติของผู้แสดง และตัวพลอทเรื่องที่ไม่ได้มีจุดเร่งเร้า หรือไคลแมกซ์อย่างชัดเจน เป็นเหมือนการเฝ้าดูการเดินทางของตัวละครอยู่ใกล้ๆ น้อยครั้งที่จะใช้การจัดวางภาพอย่างจงใจ ทำให้เราได้เห็นฉากแต่ละฉากลื่นไหลเป็นธรรมชาติมาก บวกกับนักแสดงนำในบทหมิงซานเองก็เป็นคนที่มีปัญหาด้านการได้ยินและออกเสียงจริงๆ (และชื่อหมิงซานนั้นก็เป็นชื่อจริงของเขา) ยิ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความจริงของหนังมากยิ่งขึ้น
ตลอดการเดินทาง 7 วันรอบเกาะ หมิงซานได้พบเจอกับผู้คนในต่างที่ต่างเวลา
และทั้งหมดนั้นไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน เขาเจอกองถ่ายหนัง,
เจอนางแบบชาวลิทัวเนีย,
เจอกับกลุ่มสาวโรงงานสูงวัยที่ใช้เวลาครึ่งบ่ายหลังจากการประท้วงนายจ้างเรื่องการปิดโรงงานอย่างไม่เป็นธรรม
เพื่อมาเที่ยวทะเลชมบรรยากาศริมชายฝั่ง, เจอกับคุณตาผู้มีพรสวรรค์เรื่องการแกะสลักไม้,
เจอกับครูประถมที่กำลังจะเกษียณตัวเอง, เจอกับตาและยาย
และเพื่อนบ้านในวัยเด็กของเขา ทั้งหมดนั้นเป็นชิ้นส่วนของเรื่องราวต่างที่ต่างวาระ
ที่ไม่อาจนำมาต่อติดเป็นเรื่องเดียวกันได้
หากแต่ละชิ้นส่วนต่างก็มีความหมายและมีแสงสว่างอยู่ในตัวของมันเอง
ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ
จะเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายและไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
แต่ก็สามารถสะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของสังคมไต้หวัน จากเก่าสู่ใหม่
มีการพบกันทางความคิดของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
โดยที่หนังไม่ได้ชี้นำหรือเข้าข้างใคร เพียงแค่ฉายภาพที่เกิดขึ้นอย่างเรียบเฉย
และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมเองที่จะรู้สึกไปกับเรื่องนั้นๆ
หนังเรื่องนี้ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์เป็นอย่างมากในเรื่องของภาพ
อาจเป็นเพราะเอิงเฉินเองเคยเป็นผู้กำกับภาพให้กับผู้กำกับระดับตำนานของไต้หวันหลายคน
อาทิ Chang Tso-Chi และ Cheng
Wen-Tang การวางเฟรมภาพล้วนแล้วแต่ให้ความงามและมีความหมาย
เราได้เห็นทัศนียภาพตลอดเส้นทางรอบชายฝั่งด้านตะวันออกของไต้หวัน ทะเลคลื่นลมแรง
หนุ่มสาวและครอบครัวมาพักผ่อนตากอากาศ ถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ
เป็นไต้หวันในอีกด้านที่เราอาจจะไม่ได้คิดถึงมากนักเมื่อพูดถึงประเทศนี้
Island etude ได้เป็นตัวแทนของไต้หวันเข้าประกวดในสายภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ครั้งที่
80 (ปีเดียวกับตำนานสมเด็จพระนเรศวรจากไทย, Secret
Sunshine จากเกาหลีได้ และ Orphanage จากสเปน)
แม้จะไม่ได้รับรางวัลกลับมา แต่หนังเรื่องนี้ก็เป็นที่รักของผู้ชม และในเวลาต่อมาก็ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ชื่นชอบการขี่จักรยาน
มีอยู่ประโยคหนึ่งที่หมิงซานใช้เป็นแรงขับเคลื่อนตัวเองในการออกขี่จักรยานรอบเกาะครั้งนี้
บอกไว้ว่า “สำหรับบางอย่าง ถ้าเราไม่ลงมือทำมันตอนนี้
เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำมันอีกตลอดไป” สำหรับบางครั้ง การเดินทางที่มีความหมายอาจจะไม่ได้มาจากห้องพักราคาแพงหรือความสมบูรณ์แบบตลอดเส้นทาง
การเดินทางไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยตั้งใจและวางแผนไว้อย่างดีก็ได้
การได้ปล่อยตัวเองให้ดื่มด่ำไปกับเส้นทางที่เราไป
สำรวจสิ่งข้างทางและรู้สึกไปกับมัน พูดคุย รู้จัก และเก็บบทเรียนจากผู้คนที่เราได้พบเจอ
ก็ถือเป็นกำไรที่รอให้เราเก็บเกี่ยว เป็นประสบการณ์ที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงชีวิต