To Rome with Love: รักนะ…กรุงโรม

9:00 PM NidNok Koppoets 0 Comments


To Rome with love (2012, Woody Allen, B-) 
(บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Barefoot ฉบับเดือนพฤษภาคม 2556)

ต่อเนื่องจาก Vicky Christina Barcelona (2008) ที่เล่าความสัมพันธ์วุ่นๆ ในสเปน และ Midnight in Paris (2011) กับเรื่องราวเหนือจริงของผู้ชายคนหนึ่งกับประวัติศาสตร์ศิลปะในเมืองที่สวยงามดั่งต้องมนต์อย่างปารีส ลุง Woody Allen กลับมาอีกครั้งกับหนังที่มีฉากหลังเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปในฝันอย่างอิตาลี พิกัดจุดลงไปให้แน่ที่กรุงโรม กับสี่เรื่องราวที่ถูกนำมาร้อยเรียงกันโดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันแต่ประการใด
ตั้งแต่การโปรเจ็คต์ปั้นนักร้องในห้องน้ำให้เป็นนักร้องละครโอเปร่าผู้เกรียงไกรของผู้กำกับที่ใกล้จะวางมือเต็มที, ว่าที่สถาปนิกหนุ่มที่มีแฟนที่น่ารักอยู่แล้ว แต่กำลังต้องรับมือกับสาวสวยที่มาพร้อมกับความมั่นใจในตัวเองเกินร้อย ที่รอให้เขาพิสูจน์ว่า ความฉลาดและเสน่ห์ที่มีล้นของเธอนั้นเป็นของจริงหรือไม่, คู่ผัวเมียที่หอบกระเป๋ามาจากต่างจังหวัดหวังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงโรม แต่เพียงวันแรกที่มาถึง ก็ต้องเจอเรื่องราวอลวนพิสูจน์ใจ และหนุ่มออฟฟิศชนชั้นกลางธรรมดาทั่วไป ที่วันนึงก็กลายเป็นคนดังขึ้นมาโดยไม่รู้สาเหตุ ชีวิตหลังความดังสร้างความยุ่งยากให้กับเขาอยู่มาก แต่เมื่อวันนึงที่ต้องกลับไปเป็นคนธรรมดา ก็กลายเป็นว่า เขาคิดถึงตอนที่ดังเสียอย่างนั้น 
อย่างที่บอกว่าทั้งสี่เรื่องไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกันเลย แถมแต่ละเรื่องก็ยังใช้ช่วงเวลาดำเนินเรื่องแตกต่างกัน เช่นเรื่องของสองผัวเมียข้าวใหม่ปลามันนั้นเกิดขึ้นในหนึ่งวัน เรื่องเซเลปข้ามคืนก็ใช้เวลาซักสองสามอาทิตย์ ส่วนอีกสองเรื่องนั้นน่าจะกินเวลาเป็นเดือน แถมยังเรื่องภาษาที่ผสมปนเประหว่างอังกฤษและอิตาลีในแบบที่ไม่เกรงใจผู้ชมเอาเสียเลย  แต่ทั้งหมดก็ถูกนำมาตัดสลับกันไปมาซึ่งก็ต้องนับถือหัวใจมือตัดต่อคู่ใจลุงอัลเลน Alisa Lepselter ที่ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี
อีกองค์ประกอบที่ทำให้หนังน่ารักน่าหยิกมากขึ้นอีกหลายเท่า นั้นก็คือเพลงประกอบ "Amada Mia, Amore Mio" เวอร์ชั่นเรียบเรียงใหม่ปี 2012 จากต้นฉบับเพลง "El Pasador" ของศิลปินอิตาเลี่ยน Maestro Paolo Zavallone ทำไว้เมื่อปี 1977 ก็สามารถทำหน้าที่ เป็นตัวเชื่อมชิ้นส่วนเรื่องราวแต่ละตอนเข้าไว้ด้วยกัน แม้ว่าจะละมุนละเมียดและโดดเด่นเท่าใน Midnight in Paris แต่ว่าก็ฟังติดหู และบอกใบ้อารมณ์ของหนังให้ผู้ชมรู้สึกได้เลยว่า เราไม่ได้กำลังดูหนังที่เคร่งเครียดหรือเอาจริงเสียเท่าไหร่ แต่ดนตรีสะท้อนความขี้เล่น แดกดัน และเสียดสีอยู่ในที ตามที่หนังทำออกมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน จนเชื่อว่า หลายคนอาจจะเผลอฮัมเพลงนี้อยู่อีกนานสองนานหลังดูหนังจบ

หนังเรื่องนี้ยังอุดมไปด้วยนักแสดงทั้งรุ่นใหญ่และดาวรุ่งที่ใครๆ ก็รัก เช่น Roberto Benigni (Life is Beautiful), Alec Baldwin (It's Complicated), Penelope Cruz (Volver), Jesse Eisenberg (The Social Network) และน้องจูโน่ Ellen Page ที่รายหลังสุดนี้ต้องมาเล่นเป็นสาวจอมสร้างภาพที่ดูยังไงก็น่าหมั่นไส้แต่เกลียดไม่ลง เราได้เห็นนักแสดงที่เราคิดถึงในบทที่ไม่ได้เน้นพลังการแสดง แต่เป็นชีวิตที่เราอาจพบเจอได้ตามท้องถนน มีบทสนทนาฉลาดๆ ที่แต้มด้วยอารมณ์ขันในปริมาณที่พอดีตามลายเซ็นของลุงอัลเลน ก็อาจเป็นเหตุผลให้หลายคนรักหนังบวมๆ เรื่องนี้

 
หากเทียบกับงานอื่นๆ ของอัลเลน To Rome with Love อาจไม่ใช่งานที่น่าจดจำหรือยกย่องซักเท่าไหร่ มันไม่ใช่หนังที่ดีนักแต่ก็มีเสน่ห์ในตัวมันเองที่ทำให้เราอดหลงรักไม่ได้ หนังมีความกล้าและบ้าที่จะเล่าเรื่องหลุดขนบบางอย่างโดยไม่บอกกล่าวกับผู้ชม ตัวหนังทำหน้าที่เสียดสี เหน็บแนมโลกในมุมมองของอัลเลน โดยใช้อารมณ์ขัน และวิธีการเล่าเรื่องแบบเหนือจริง (Surreal) มาลดทอนความขึงขังตรงนี้ไป เรื่องราวที่เหลือเชื่อมีบางมุมที่ทำให้เราเชื่อและรู้สึกว่ามันจริงเหลือเกินแม้ว่ามันไม่อาจจริง และตลกร้ายยิ่งกว่าคือในโลกจริงๆ ใบนี้นั้นก็มีหลายสิ่งหลายอย่างเหลือเกินที่มันเกินจริงไปพอๆ กับที่หนังทำให้เราดู อย่างในตอนของ Beningi  เขาเป็นคนธรรมดาที่บังเอิญโด่งดังเพียงข้ามคืนอาจหลงระเริงกับผลพลอยได้อันเป็นกำนัลที่พ่วงมากับชื่อเสียง แม้ในวันๆ หนึ่งเขาจะต้องคอยตอบคำถามไร้สาระอย่าง “คุณว่าวันนี้ฝนจะตกมั้ย” “ใส่กางเกงในหรือบ็อกเซอร์” “กินอะไรเป็นข้าวเช้า” แต่มันก็ดีกว่าเมื่อในวันนึงที่ตื่นมาแล้วพบว่าชื่อเสียงได้อันตรธานหาย และไม่มีใครจดจำเขาได้ ฉากที่ตัวละครนี้วิ่งตะโกนคล้ายคนบ้าอยู่กลางถนนเพียงหวังให้ใครจดจำได้นั้นแม้จะชวนขัน แต่ก็น่าเศร้าในขณะเดียวกัน เพราะมันคือภาพสะท้อนมายาแห่งชื่อเสียง ในยุคสมัยที่ใครๆ ก็เป็นเซเลปได้ ว่าแม้การเป็นคนดังอาจแสนเศร้า แต่มันก็ดีกว่าการเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีใครสนใจอยู่ดี

หนังไม่ได้เน้นที่สถานที่ท่องเที่ยวในโรมจนกลายเป็นสารดีชวนเที่ยวเกินไป แต่กรุงโรมก็ได้ถูกกลืนเป็นฉากหลังที่ขับให้การแสดงของตัวละครตรงหน้าโดดเด่นและมีเสน่ห์ขึ้น โรมสำหรับหนังเรื่องนี้จึงเป็นสถานที่ที่บรรจุเอาชีวิตที่หลากหลาย เป็นที่หมายของนักท่องเที่ยวที่หวังจะได้มาพบเรื่องแปลกใหม่ชวนพิศวง เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ สถาปัตยกรรม และผังเมืองที่ซับซ้อน ซึ่งก็เหมือนกับชีวิตของผู้คนที่มีหลากหลายแง่มุมให้เลือกมอง แต่แสงแดดในหน้าร้อนและสีสันสดใสของตึกคือตัวแทนของความสนุกและอารมณ์ขัน ที่แม้จะเป็นอารมณ์ขันในแบบที่ยิ้มเยาะให้โลก เสียดสีโชคชะตา ทว่ามันก็เป็นอีกวิธีให้เรารื่นรมย์กับชีวิต และนั่นก็คือนิยามของกรุงโรม เมืองแห่งชีวิตชีวาที่น่าค้นหาแห่งนี้