Kaseifu no Mita + Kazoku Game : มหรสพเพื่อการซ่อมแซมครอบครัวที่สึกหรอ
เพิ่งดูซีรีส์ญี่ปุ่นจบไปสองสามเรื่องเมื่อเร็วๆ นี้ และก็แปลกดีที่สองเรื่องในนั้นมีโครงบ้างบางอย่างที่คล้ายกันมาก ไอเดียของเรื่องเหมือนกันคือการทุบทำลายและซ่อมแซมครอบครัวที่สึกหรอให้กลับมาเป็นครอบครัวที่แท้จริง สองเรื่องนั้นคือ Kaseifu no Mita (NTV, 2011) และ Kazoku Game (Fuji TV, 2013)Kaseifu no Mita (家政婦のミタ) เล่าเรื่องของครอบครัวอาสึดะหลังจากแม่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน พ่อที่เหลืออยู่คนเดียวไม่สามารถทำงานไปพร้อมกับการดูแลบ้าน และลูกสาวลูกชายทั้งสี่ได้ จึงต้องใช้บริการบริษัทจัดหาแม่บ้าน ซึ่งส่ง "มิตะ" แม่บ้านท่าทางลึกลับที่ปรากฏตัวตรงเวลาเสมอ และจะไม่พูดกับใครถ้าไม่จำเป็น เธอทำอาหารเก่ง ดูแลบ้านได้อย่างยอดเยี่ยม และพร้อมที่จะทำตามคำสั่งของนายจ้างเสมอ แม้จะบอกให้เธอไปฆ่าใครก็ตาม
Kazoku Game (家族ゲーム) พูดถึง บ้านนุมาตะ ครอบครัวในอุดมคติที่ใครเห็นก็ต้องอิจฉา บ้านนุมาตะมีบ้านเดี่ยวสองชั้นหลังใหญ่โตโดดเด่นกว่าเพื่อนบ้าน พ่อเป็นผู้จัดการทำงานในบริษัทใหญ่รายได้สูง แม่เป็นลูกคุณหนูฐานะดีเป็นแม่บ้านที่ดูแลทุกอย่างไม่เคยขาดตกบกพร่อง ลูกชายคนโตหล่อเหลาและเรียนเก่งถึงขั้นที่ว่าเขาคงจะสอบเข้าโทไดได้ไม่ยาก ปัญหามีเพียงลูกชายคนเล็กวัยม.ต้นที่ไม่ยอมไปโรงเรียนมาหลายอาทิตย์และเก็บตัวอยู่ในห้อง ผลการเรียนก็แย่ลง ผู้เป็นพ่อจึงตัดสินใจจ้างครูพิเศษที่มีประวัติการสอนยอดเยี่ยม ส่งเด็กเข้าโรงเรียนม.ปลายชื่อดัง และโทไดมาหลายคนแล้ว แม้ค่าตัวครู Yoshimoto Koya จะแพงแค่ไหน ครอบครัวนี้ก็ยินดีจ่ายเพื่อแลกกับอนาคตที่ดีของลูกอยู่แล้ว
ทั้งสองเรื่องเล่าเรื่องของครอบครัวที่มองจากข้างนอกเข้าไปจะอดอิจฉาในความเพอร์เฟ็คต์ไม่ได้ แต่ในความสมบูรณ์แบบมีบาดแผลบางอย่างที่เจ็บช้ำ และไม่เคยถูกเยียวยา จนกระทั่งการมาของคนนอกอย่าง "แม่บ้าน" และ "ครูสอนพิเศษ"
เราอาจจะมองว่าครอบครัวที่สามารถจ้างแม่บ้าน และครูสอนพิเศษได้นั้นดูน่าอิจฉา มีฐานะ แต่ซีรีส์ทั้งสองเรื่องพยายามจะเสนอว่า ที่จริงแล้ว ครอบครัวที่อ่อนแอต่างหากที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ การมีแม่บ้านและครูพิเศษเป็นส่วนเติมเต็ม เป็นตัวช่วยให้ครอบครัวที่ว่างเปล่าทอดทิ้งปัญหาที่มี บาดแผลในครอบครัวไม่ได้ถูกเยียวยา ซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นยุคใหม่ (และสังคมไทย) กำลังเผชิญอยู่ เราเห็นภาพเพื่อนบ้านจากมุมที่เราเห็น จากรูปที่เขาแชร์ จากข้าวของที่เขาใช้ จากเงินที่เขามี ครอบครัวยุคใหม่กำลังเดินหน้าให้ความสำคัญกับภาพที่ต้องการให้คนอืนเห็น มากซะจนมันกลายเป็นภาพหลอนตัวเอง ในซีรีส์สองเรื่องดังกล่าว จึงเลือกให้ตัวละครคนนอก เข้ามาทำลายครอบครัวให้ย่อยยับ ให้พวกขาตระหนักถึงปัญหา ก่อนจะต่อติดครอบครัวที่แตกสลายให้กลับมาอีกครั้ง (หากทำได้)
ประเด็นที่น่าสนใจใน Kaseifu no Mita มีอยู่เยอะนะ แต่ที่เราชอบที่สุดและจะยกมาเขียนคือความกล้าหาญที่จะทำให้ตัวละคร "พ่อ" เป็นคนอ่อนแออย่างน่าตกใจ มันพาไปจนสุดถึงขั้นที่ว่าพ่อสติหลุดแล้วทิ้งลูกสี่คนไว้ที่บ้านตามลำพัง แล้วตัวเองแยกออกไปอยู่ในห้องเล็กๆ ในโรงแรม มันเป็นด้านที่ไม่ค่อยถูกพูดกันอย่างตรงๆ เท่าไหร่นะเรื่องความอ่อนแอของพ่อแบบที่ขอลาออกจากความเป็นพ่อไปเลยเนี่ย ภาพที่สังคมกำหนดไว้ต่อบทบาทความเป็นพ่อคือผู้เข้มแข็ง ผู้ปกป้อง ผู้นำ รวมกับมายาคติของความเป็นเพศชาย พ่อที่เราคาดหวังจึงไม่ต้องอบอุ่นนัก แต่ต้องเป็นผู้นำให้เราได้ ใช่แหละว่าไม่ใช่พ่อของทุกคนจะเป็นแบบนี้ พ่อที่เพอร์เฟ็คต์คงไม่ได้มีอยู่จริงมากเท่าไหร่ เราอาจเห็นพ่อที่มีปัญหาบ้าง เช่นติดเหล้า ตบเมีย เจ้าชู้ ฯลฯ แต่มันยังแฝงภาพอำนาจของเพศชายอยู่ แต่พ่อใน Kaseifu no Mita คือหลุดไปเลย เขาไปทำผู้หญิงท้องก็เลยต้องแต่งงานแบบไม่ทันตั้งตัว ไปๆ มาๆ มีลูกสี่คนซะงั้น เป็นหัวหน้าครอบครัวใหญ่ไม่รู้ตัว ใช้ชีวิตไปตามบทบาทที่สังคมวางให้เป็น จนพอถึงจุดนึงที่ลูกๆ รับรู้เรื่องที่เขาไปชอบผู้หญิงอีกคน จนอยากจะขอเมียหย่า และเป็นต้นเหตุให้เมียตัวเองฆ่าตัวตาย ไอ้ด้านอ่อนแอของพ่อมันก็ออกมา อัดอั้นมานานแล้ว ว่าทำไมอยากมีเมียไม่แล้วไม่ได้มี อ๋อใช่...เพราะความเป็นพ่อมันค้ำไว้ งั้นกูไม่เป็นพ่อแล้ว ไม่ได้อยากเป็นมาตั้งแต่แรก กูไม่พร้อมเป็นพ่อใคร ไม่เป็นแล้วได้มั้ย ไปแล้วนะ
เราชอบที่มันเสนอให้คนจริงๆ กล้าที่จะรู้สึกกับความรู้สึกตัวเอง มันมีใช่ไหมบางความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาแล้วเราไม่อยากยอมรับว่ามันเกิดขึ้น นั่นแหละ เรื่องนี้มันลองทำให้ดูว่า ถ้าเราเผชิญหน้ากับความรู้สึกผิดที่ทำให้เรามีความสุขแบบนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องแคร์สังคมหรือใคร เอาแต่ใจตัวเองให้สุดทางไปเลย แต่มันก็ไม่ได้ดาร์คถึงขั้นที่พาตัวละครล้ำเส้นความรู้ผิดชอบชั่วดี สุดท้ายตัวพ่อก็ค่อยๆ สร้างตัวเองกลับมาใหม่ เข้าใจสถานะ และข้อจำกัดที่ตัวเองมีอยู่ แล้วกลับมาเป็น พ่อ ในแบบที่ตัวเองโอเคที่จะอยู่กับมัน และประนีประนอมกับความคาดหวังจากสังคมไปในตัว
ส่วน Kazoku Game นั้นดูจะครบเครื่องเรื่องปัญหาและดูจริงมากกว่า เป็น Slice of life ที่ทำให้เราอินแบบข้ามวัฒนธรรมได้เลย ไอเดียของเรื่องมันเริ่มจากปัญหาการกลั่นแกล้ง (Bullying) กันในโรงเรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดบ่อยมากในหนังและซีรี่ส์ญี่ปุ่น ก่อนที่จะซูมเข้าไปในปัญหานั้นแล้วพบว่ามันมีที่มาที่ไปจากครอบครัวนี่แหละ
โยชิโมโตะ โคยะ ครูพิเศษเจ้าปัญหาพูดครั้งนึงว่า "ครอบครัวจะผลิตเด็กออกมาสองแบบ แบบแรกคือเด็กอ่อนแอที่เป็นเหยื่อของการถูกแกล้ง และอีกแบบคือเด็กที่ไปแกล้งเขา พวกนั้นคือปีศาจ" และบ้านนุมาตะนั้นก็มีเด็กทั้งสองแบบอยู่ในบ้าน มันเป็นไปได้ที่ครอบครัวจะสร้างเด็กสองแบบนี้มาได้พร้อมๆ กัน เหยื่อและผู้ล่าถูกเลี้ยงมาแทบไม่ต่างกัน แล้วอะไรทำให้เด็กสองคนตกอยู่คนละสถานะกันได้
นุมาตะ ชินอิจิ พี่ชายคนโตที่เพียบพร้อมทั้งเรื่องเรียน กีฬา และหน้าตาหล่อเหลา คือตัวอันตรายที่ไม่มีใครคิดถึง เขาเป็นลูกคนโตในอุดมคติ เป็นผู้แบกความหวังของพ่อแม่ไว้ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ครอบครัวมีคำชมเตรียมไว้ให้เขาเสมอเมื่อเขาประสบความสำเร็จ เขามั่นใจในตัวเอง แต่ไม่เคยมั่นใจว่าครอบครัวจะเป็นที่พึ่งให้ได้หรือไม่หากเขาแพ้มาสักครั้ง ความเครียดที่ว่าจึงไม่ถูกระบายออก ไม่ถูกเล่าให้ฟัง จนมันสะสมกลายเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ทำผิดเพื่อความสบายใจ หลบหนีออกจากโลกแห่งความคาดหวัง และทดลองรสชาติคนร้ายดูบ้าง
ส่วนน้องชาย ชิเงยูกิ เขาถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมห้องจนไม่อยากไปโรงเรียน แต่ครอบครัวไม่ใช่ที่ที่น่าไว้ใจมากพอที่จะเล่าปัญหา และปรึกษาเพื่อหาทางแก้ เขาหลบหน้าจากโรงเรียน และสร้างกำแพงกั้นตัวเองให้เป็นเด็กมีปัญหาซะ คนเดียวที่เขากล้าเล่าทุกเรื่องให้ฟังคือครูสอนพิเศษ ที่สอนให้เขากลับไปเผชิญหน้ากับการถูกแกล้ง ยอมรับที่จะอยู่กับมัน ก่อนที่เรื่องราวจะคลี่คลาย และพลิกด้านกลับจนไปสู่จุดที่เด็กชายต้องเลือกว่าตัวเองจะกลายเป็นปิศาจที่แกล้งเขาเสียเองหรือไม่
ปัญหาที่ลูกชายของบ้านนี้มีร่วมกับคือความไม่ไว้ใจที่มีต่อครอบครัว หน่วยทางสังคมที่ควรจะเป็นที่ที่เรากล้าพูดด้วยทุกเรื่อง แต่ก็นั่นแหละ ไม่ต้องเป็นเด็กสองคนนี้หรอก เราเองก็ไม่ได้อยากเล่าทุกเรื่องให้ครอบครัวรู้ เป็นเพื่อน เป็นแฟน หรือเป็นคนอื่นไปเลยเสียมากกว่าที่จะได้รับฟังเรื่องใหญ่ๆ หรือการตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ของเรา
ส่วนกับผู้ใหญ่ ครอบครัวก็เป็นส่วนที่สร้างปัญหาให้ชีวิตยุ่งยากขึ้นกว่าเก่า แม่บ้านที่ทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ซากๆ ทุกวัน ตื่นเช้า ทำอาหาร ทำความสะอาด ไปตลาด เม้าท์กับเพื่อนบ้านเฟคๆ ทำอาหาร ทำความสะอาด ปรนนิบัติผัว นอน แล้วก็ตื่นมาทำทุกอย่างเหมือนเดิม จนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้แม่บ้านก็พูดไม่ได้เช่นกัน เพราะถูกคาดหวังให้มีบทบาทแบบนี้ เหมือนกับพ่อ ที่ต้องพยายามรักษาหน้าที่การงาน เพื่อดำรงบทบาทหัวหน้าครอบครัวเอาไว้
กลายเป็นว่า ครอบครัวเป็นที่ของการแสดงบทบาทต่อกัน ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยที่จะหันหน้ามาคุยกัน ครอบครัวที่อบอุ่นเกิดจากภาพที่แสดง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่จริงใต้หลังคานั้น
สำหรับเราดูจะสนุกกับ Kazoku Game มากกว่า มันโฟกัสไปที่เรื่อง Bullying อย่างจริงจังถึงรากเลยแหละ และวิธีการเล่าก็รุนแรงแฝงไปกับความตลก หรือจะว่ามันตลกร้ายก็ได้แหละ เสียงแซ็กโซโฟน ที่เป็นสกอร์ประกอบเรื่องทั้งหมดมันน่ารำคาญและเป็นตัวร้ายของเรื่อง เพิ่มความหม่นให้เรื่องมันเทาใกล้ดำเข้าไปเรื่อยๆ ถ้าตอนจบมันดำไปเลยจะถูกใจมาก แต่ก็อย่างว่าแหละ มันต้องชี้ทางออกให้คนมีความหวังสิ
เรายังไม่ค่อยเห็นหนัง/ละครไทย ที่เล่าเรื่องการ Bullying อย่างจริงจังเนอะ เราเห็นแต่การแตะผ่านๆ ตามฉากที่เด็กหลังห้องแซวเด็กเนิร์ด ขู่ขอลอกการบ้าน, ผู้ชายแกล้งเปิดกระโปรงเด็กหญิง, เด็กหญิงอ้วนดำที่จะกลายเป็นตัวตลกของเรื่องเสมอ ฯลฯ มันมีแบบนี้อยู่จริงแหละในโรงเรียน อาจจะหนักกว่านี้ สำหรับเราที่โตแล้ว บางเรื่องที่เจอสมัยเด็กยังเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมบางอย่างที่เราเป็นทุกวันนี้ด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้มันไม่ได้ถูก Raise ขึ้นมา ไม่ถูกเล่าในมุมของการ Bully ตรงๆ (แต่ไปเล่าในฐานะว่าเป็นต้นเหตุของตัวละครในตอนโตไรงี้มากกว่า)
ต้องรอถึงเมื่อไหร่ที่เรื่องนี้จะสำคัญพอที่จะพูดถึง...
ปล. Kazoku Game (The Family Game) ต้นฉบับเป็นนิยายของ Yohei Honma สะท้อนภาพญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม ที่ญี่ปุ่นฟื้นขึ้นมาด้วยการสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว อันนำมาซึ่งความล่มสลายในหน่วยเล็กที่สุดของสังคมอย่างครอบครัว ถูกสร้างเป็นละครพิเศษ 2 ชั่วโมงจบที่ช่อง TV Asahi เมื่อปี 1981 เป็นหนังปี 1983 กำกับโดย Yoshimitsu Morita และเป็นละคร 6 ตอนจบฉายที่ช่อง TBS ในปีเดียวกับที่หนังฉาย
Trailer - Kazoku Game (1983)