Lost in Thailand: หนีห่าวไท่กั๋ว

1:20 PM NidNok Koppoets 0 Comments


Lost in Thailand: หนีห่าวไท่กั๋ว
(บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ Barefoot ฉบับเดือนมิถุนายน 2556)



เมื่อปลายปีที่แล้ว (2555) มีหนังจีนเรื่องหนึ่งที่หลังจากเข้าฉายไม่กี่วัน ก็พาตัวเองพุ่งทะยานกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดในประเทศจีน เอาชนะทั้งแชมป์เก่าที่ขึ้นหิ้งมายาวนานอย่าง Titanic และหนังที่โชว์พลังจินตนาการและความทะเยอทะยานด้านวิชวลของมนุษย์อย่าง Avatar ลงไปได้ราบคาบด้วยรายรับสูงกว่า 220 ล้านเหรียญ หนังจีนเรื่องนี้ไม่ได้กำกับโดยจางอี้โหมว ไม่ได้ลงทุนด้วยเงินมหาศาล (ทุนสร้างประมาณ 2 ล้านเหรียญ) ไม่ได้มีพลอทใหญ่โตอิงประวัติศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นหนังที่มีนักแสดงนำอยู่ 3 คน เดินเรื่องด้วยสถานการณ์วายวอดชวนขันครั้งแล้วครั้งเล่า และที่สำคัญ คือกว่า 90% ของหนังนั้นมาถ่ายทำในเมืองไทย 
เรากำลังพูดถึง Lost in Thailand (2012) หรือชื่อไทยกวนๆ ว่า “แก๊งค์ม่วนป่วนไทยแลนด์” หนังสัญชาติจีนแผ่นดินใหญ่ที่พาทีมงานกองถ่ายหอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาถ่ายทำกันที่เมืองไทยของเรานี้เอง เพราะหนังเล่าเรื่องของฉีหลาง นักธุรกิจที่เพิ่งคิดค้น “ซุปเปอร์ออยล์” เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าวงการพลังงานของโลก เขาต้องเก็บกระเป๋าเดินทางมาหา อาโจว เจ้าของเงินทุนเพื่อขอพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้ต่อไป แต่การเดินทางมายังสยามประเทศครั้งนี้มันไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่ เพราะนอกจาก “เก๋าโบ” คู่แข่งคู่แค้นที่ตามมาขัดขวางความเจริญของเขาแล้ว อาฉียังต้องเจอกับ “หวังเป่า” ผู้ชายหน้าซื่อจิตใจดีที่ถือต้นกระบองเพชรติดมือเอาไว้ตลอดเป็นเพื่อนร่วมทางด้วยความเต็มใจอย่างเสียมิได้ จากปักกิ่งสู่สุวรรณภูมิ สู่ดอนเมือง หัวลำโพง และทั่วจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นทริปสุดโหดพิสูจน์จิตใจ และสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้นกับผู้ชายที่แตกต่างกันสุดขั้วทั้งสองคน
พล็อทหนังไม่มีอะไรแปลกใหม่ มันดำเนินไปตามสูตรซ่อมและสร้างผ่านการเดินทาง อันเป็นหัวใจของของหนังแนว Road Movie ไม่ผิดเพี้ยน เราจะรู้สึกว่าหนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากทั้ง The Hangover 2 (2011) ที่มาถ่ายทำในเมืองไทยเช่นกัน และอีกเรื่องคือ Due Date (2010) ที่มีคาแรกเตอร์ตัวละครหลักเป็นชายหนุ่มเก่งเพอร์เฟ็คต์ทุกประการ กับคู่หูที่เป็นไอ้ห่วย เซ่อซ่า แต่ไม่ว่ายังไงเราก็จะโกรธเขาไม่ลง Lost in Thailand มีทั้งสององค์ประกอบนั้น และถูกปรุงใหม่ด้วยรสชาติที่ทำให้เรานึกถึงหนังจีนเก่าๆ ของโจวซิงฉือ อันเป็นรสชาติหนังตลกที่ถูกปากชาวเอเชียอย่างเราๆ
อย่างหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นส่วนที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จถล่มทลายขนาดนี้ ก็คือความสามารถในการสร้างความตลกจากสถานการณ์ (Situation Comedy) ที่นำพาตัวละครไปเผชิญกับความผิดพลาดวายป่วงครั้งแล้วครั้งเล่า ความฮาอันเกิดจากสถานการณ์ บวกกับการแสดงสีหน้าซื่อๆ ยียวนกวนประสาท และจังหวะที่แม่นยำมากทั้งของนักแสดงและผู้กำกับ ล้วนเป็นข้อดีที่ทำให้หนังไปได้ไกลกว่าการเป็นตลกในประเทศ เพราะเมื่อมุขตลกไม่ได้อาศัยบทพูดมากนัก หนังจึงสามารถข้ามกำแพงด้านภาษา แล้วใช้ท่าทางการแสดง และจังหวะที่แหลมคม อันเป็นภาษาสากลซัดคนดูให้เข้าใจและสนุกไปกับหนัง (ส่วนคนไทย ก็อาจจะฮาขึ้นไปอีกขั้นด้วยความสามารถเฉพาะทีมของทีมพากย์พันธมิตร) 
ประเทศไทยในหนังเรื่องนี้ถูกมองด้วยสายตาที่เป็นมิตร อาจจะเพราะเป็นหนังจากเพื่อนร่วมทวีปเอเชียที่มีความใกล้ชิดกันพอสมควร มีการรวมเอาสิ่งที่คนอยากเห็นเมื่อพูดถึงเมืองไทยเอาไว้ ทั้งรถตุ๊กตุ๊ก, รถติด, ช้าง, มวยไทย, สาวประเภทสอง ฯลฯ ความ “เป็นไทย” ในสายตาของผู้สร้าง สะท้อนความเป็นเราที่เป็นจริงอยู่มาก เช่นความเซนซิทีฟของคนไทยต่อการขโมยสิ่งศักดิ์สิทธิ์, ความใจเย็น ใจดี และยืดหยุ่นได้ง่ายเกินไปของเราที่มักเป็นช่องโหว่ให้เกิดการกระทำผิดอยู่เสมอๆ ถูกนำเสนอด้วยน้ำเสียงที่ยิ้มให้ แต่ก็หยิกหยอกเราให้เจ็บเบาๆ อยู่เหมือนกัน
จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อหนังฉาย คนจีนจะแห่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย (โดยเฉพาะเชียงใหม่) กันอย่างคึกคัก และน่าจะรักษาความฮิตแบบนี้เอาไว้ได้อีกนาน พลังของสื่ออย่างภาพยนตร์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือมีการเล่าเรื่องผ่านภาพและเสียง ทัศนียภาพที่สวยงามถูกนำเสนอผ่านหน้าจอที่ใหญ่ที่ให้รายละเอียดชัดเจน การตระเวนไปตามที่ต่างๆ ของตัวละครและพบเจอเหตุการณ์และคนในพื้นที่ทำให้ผู้ชมอาจคาดเดาสิ่งที่ตนน่าจะได้เจอเมื่อไปเยือนเมืองนั้นเอาไว้ล่วงหน้าได้ หลายประเทศจึงส่งเสริมให้กองถ่ายหนังและละครมาใช้ฉากในประเทศตนถ่ายทำ เพราะแรงกระเพื่อมที่เห็นได้ชัดแน่ๆ ก็คือการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลไทยเองก็มีการออกมาตรการทางภาษี ในการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของนักแสดงต่างประเทศเหมือนอย่างที่หลายประเทศเพื่อนบ้านของเราทำ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะตามมาเช่นกัน อย่างเช่นข้อสังเกตเรื่องผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศหลังกอง The Beach (2000) เข้ามาใช้อ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่เป็นสถานที่ถ่ายทำนานหลายเดือน
การได้รับฟังความเป็นตัวเราจากการบอกเล่าผ่านสายตาคนอื่น เป็นภาพสะท้อนสิ่งที่เราเป็น ไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามสร้าง เหมือนเช่นที่เราได้เห็นภาพของเมืองไทยในหนังนอกที่อาจจะทั้งทำให้เรายืดอกภูมิใจ และขัดใจได้เช่นกัน มันไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่เป็นสิ่งที่เราควรน้อมรับมาปรับปรุงจุดบกพร่อง และเสริมจุดแข็งให้ยิ่งแกร่งมากขึ้น และหากกระแส Lost in Thailand จะยังฮิตไปเรื่อยๆ อยู่ในเมืองจีนล่ะก็ คงถึงเวลาที่เราจะฝึกภาษาจีนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันซักที :)