The Tale of the Princess Kaguya
The Tale of the Princess Kaguya かぐや姫の物語(2013, Isao Takahata, A)
เปิดทีวีตอนเช้า ได้ฟังนิทานพื้นบ้านเรื่องตาม่องลายในรายการข่าวเช้า เออ มันเป็นรายการข่าวเช้าที่มีการเล่านิทานด้วยเว้ยเฮ้ย จำได้ว่าตอนเด็กๆ ชอบอ่านเรื่องพวกนี้ ชอบฟังเทปด้วย แม่จะซื้อเทปรวมฮิตนิทานพื้นบ้านมาให้เราฟังก่อนนอน คาดว่าแม่คงขี้เกียจเล่าเอง ตอนนั้นเวลาฟัง ภาพในหัวเรานี่ผุดขึ้นมาเป็นฉากๆ เสียงเอฟเฟ็คต์ทั้งหลายอัดมาเต็มที่ในแบบที่มนุษย์แม่ทำไม่ได้ ยิ่งเติมเต็มให้จินตนาการฉูดฉาดขึ้นไปอีก หัวสมองของเด็กเจ็ดขวบโลดแล่นสุดๆ
ตาม่องลายนี่แฟนตาซีมาก เรื่องเกิดจากครอบครัวเล็กๆ ที่อยากให้ลูกสาวได้สามี พ่อแม่ก็เลยจัดหาผู้ชายให้ลูกชนกันซะงั้น ดูเป็นปัญหาครอบครัวร่วมสมัยอยู่ดีๆ พอไปช่วงไคลแมกซ์นี่แฟนตาซีขึ้นมาดื้อๆ พอโกรธ ตาม่องลายแกก็ฉีกลูกสาวออกเป็นส่วนๆ โยนไปทางโน้นทางนี้ แล้วชิ้นส่วนลูกสาวแกก็กลายเป็นเกาะเป็นแก่ง คือถ้าอ่านเรื่องมาตั้งแต่ต้นเราจะนึกภาพไม่ออกเลยว่าตอนจบมันจะออกมาในรูปนี้ กลายเป็นนิทานส่งเสริมการท่องเที่ยวไปได้ไงวะเฮ้ย...
แต่นั่นก็เป็นจุดเด่นของพวกนิทานพื้นบ้านแหละ เพราะนอกจากตาม่องลาย พวกอุทัยเทวี แก้วหน้าม้า พญากง พญาพาน อะไรนี่ก็เล่าเรื่องด้วยวิธีคล้ายๆ กันหมด มันมีพลอทของชีวิตคนอยู่ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะแทรกมาตอนไหน ก็จะต้องมีเรื่องอภินิหารเหนือจริงปนๆ เข้ามาบ้าง คงเป็นความบันเทิงของคนสมัยก่อนที่ขอกูแฟนตาซีบ้างขณะตีดาบ เวลาเราอ่านเรื่องพวกนี้เราเลยจะอินไม่สุด รู้สึกแค่ว่ามันเป็นเครื่องมือของการสอน หรือแต่งขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในแง่ที่เป็นเรื่องราวเบื้องหลังสถานที่หรือสิ่งของใดๆ เป็นวรรณกรรมทีเล่นทีจริง มีความสนุกสนานเพลินใจเป็นที่ตั้ง
เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ก็เป็นนิทานพื้นบ้านแบบนั้น ชื่อเรื่องจริงๆ คือ เรื่องของชายตัดไม้ไผ่ The Tale of the Bamboo Cutter แต่คนจะจำได้ในชื่อเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่มากกว่า ไปอ่านตัวเรื่องจริงๆ ของมันมาก็เป็นฟีลลิ่งแบบนางสิบสอง ตาม่องลายพวกนี้แหละ มีบางช่วงที่ดูไซไฟแบบที่โนแลนมาเอาไปทำหนังได้เลยด้วยซ้ำ
แต่ในอนิเมชั่น ฉบับ Studio Ghibli เล่าเรื่องแบบข้ามความปรัมปราแฟนตาซี แต่ปล่อยให้เราละเลียดรายละเอียดแห่งชีวิตเล็กๆ น้อยๆ จนเราค่อยๆ เชื่อ หนังไม่ตัดสินตัวละครอย่างที่ขนบแห่งความเป็นนิทานพิ้นบ้านชอบทำ ดีเลวนี่ชัดมาก ทุกตัวละครจะเล่นใหญ่หมด คาแรกเตอร์จัด ไม่มีสีเทา คิดเห็นและแสดงออกชัดเจนหมด แต่การนำเสนอรอบนี้เติมมิติให้ตัวละคร เพิ่มความเป็นมนุษย์เข้าไป แล้วเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงของการเฝ้ามองมนุษย์จริงๆ
The Tale of the Princess Kaguya พูดถึงชีวิตแบบไม่ยากเลย พูดซ้ำเรื่องเดิมด้วย คือการมีชีวิตอยู่ สิ่งต่างๆ รายทางที่ประกอบรวมกันเป็นชีวิตของเรา การเกิด แก่ เจ็บ ตาย พบพรากจากลา อันเป็นธรรมดาธรรมชาติ มีความพุทธมาก แต่เป็นพุทธแบบที่ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาสอน ปล่อยให้เราดูเอง คิดเอง เผลออีกทีคือน้ำตาร่วงเผาะ ยิ่งพออ่านคำแปลเนื้อเพลงช่วง End Credit นี่ถ้าจิตอ่อนๆ นี่บรรลุธรรมชั้นต้นไปแล้ว
เรื่องราวไปอย่างเนิบช้า ก่อนเข้าโรงยังคิดอยู่เลยว่าจะอะไรนักหนาวะตั้งสองชั่วโมงครึ่ง เวลาของหนังที่ยาวนานนั้นหมดไปกับการทิ้งเราเอาไว้กับช่วงเวลาสำคัญๆ อันเป็นรายละเอียดของชีวิตแบบไม่เสียดายเวลาเลยสักนิด ฉากทารกที่ค่อยๆ คว่ำ พลิกตัว กระดืบคลาน ย่อ ยืน เดิน และวิ่ง นั่นกินเวลาเท่าไหร่ไม่รู้ แต่เรายิ้มเอ็นดูไปกับมัน เราไม่เคยจำช่วงเวลานั้นของชีวิตเราได้ แต่วันนี้เรายิ้มหัวเราะไปกับพัฒนาการเล็กๆ ที่ครั้งหนึ่งตัวเราเองก็เคยเป็นนักแสดงใหญ่ของพ่อแม่เรา ทารกนั้นเป็นเหมือนของขวัญของพ่อแม่ เป็นของขวัญของพื้นดิน เป็นสิ่งมีชีวิตจากดาวอื่นที่มาโลกนี้เพื่อให้ทุกคนรัก ส่วนที่ดูเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ของเจ้าหญิงที่เติบโตเร็วเหลือเกิน นั่นคือเวลาของตัวเราในใจพ่อแม่ เผลอแป๊บเดียวลูกน้อยตัวเท่าหัวแม่โป้งก็หัดคลาน เดิน ยืน แล้ววิ่งปร๋อคลุกดินคลุกทราย
หนังไม่เศร้า ไม่พยายามทำให้เศร้า ขนาดตอนที่เจ้าหญิงจะต้องกลับสู่เมืองพระจันทร์ ขบวนแห่พระพุทธเจ้า และนางอัปสรที่ขับร้องร่ายรำนั่นยังมาด้วยท่วงทำนองดนตรีแห่งความชื่นบาน สิบนาทีสุดท้ายของหนังต่อเนื่องไปยัน End Credit นี่มีพลังทำลายล้างสูงมาก กลับบ้านมาเปิดคลิปดูซ้ำอีกรอบยังน้ำตาไหลอยู่เลย
เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่เป็นหนังที่พูดถึงชีวิตได้อย่างสงบนิ่ง เป็นจริง และเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว ชีวิตคือสิ่งเหล่านี้ คือความเจ็บปวด คือการหัวเราะ คือเท้าที่วิ่ง คือน้ำลายที่ไหลยามหลับ คือความมุ่งมั่น คือความขี้เกียจ คือภาพตรงหน้า คือสิ่งที่เกิดและเข้ามากระทบเรา ชีวิตคือปัจจุบันที่เราอยู่
ได้ดูหนังโรงเรื่องแรกของปีด้วยเรื่องนี้นี่รู้สึกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากๆ เลย
0 comments: