เป็นตะคริว
เป็นตะคริว(โตมร ศุขปรีชา, 2558, Way of book)
[13/2015]
ถ้าเป็นหนังสือความเรียงทั่วไป มันก็คงจะค่อยตะล่อมอารมณ์เรา พาไล่ไต่ระดับความเข้มข้นบีบคั้น ไปจนถึงจุดสุดยอด แล้วก็ทิ้งดิ่งเราลงมา ปล่อยเวลาให้เราครุ่นคิดเล็กน้อยก่อนจะถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือ
แต่ "เป็นตะคริว" ไม่ใช่แบบนั้นเลย ส่วนหนึ่งเพราะเป็นหนังสือรวมบทความของคุณโตมร ศุขปรีชา ที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Cramp นิตยสาร Way รวม 45 ชิ้น เลยทำให้หนังสือไม่ต้องเสียเวลาโยกโย้ ปูทาง ลากอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น มันเปิดฉากมาโฉ่งฉ่าง ฉะฉาน ฉูดฉาด ฉลาดเฉลียว เฉี่ยวฉิว ยังไง จนถึงหน้าสุดท้ายมันก็เป็นแบบนั้น
แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด แต่ทุกบทความต่างก็พูดถึงเรื่องเมืองไทย อย่างตรงไปตรงมา วิพากษ์วิจารณ์แบบไม่ต้องรักษาน้ำใจอะไรกันแล้ว บางเรื่องเราไม่เคยคิดถึงมุมนั้น หรือหากคิดถึง ก็ไม่กล้าหาญพอที่จะเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์ขนาดนี้ อ่านในที่สาธารณะก็กลัวคนชะโงกหน้ามาเห็นว่า มึงอ่านอะไรไอ้พวกหัวรุนแรง ถ้าโดนอย่างนั้นจริงจะปิดหนังสือแล้วหันไปบอกว่า แกน่ะแหละหัวอ่อนเกินไป
ช่วงเวลาของบทความที่ปรากฏในหนังสือ คือตั้งแต่ปี 2549 - 2556 เราพบว่าเมืองไทยเมื่อเก้าปีที่แล้วเป็นอย่างไร ตอนนี้มันก็ไม่ต่างไปจากตอนนั้นหรอก (น่าดีใจใช่มั้ย) ค่านิยมที่ฝังรากในบ้านเรามันมีอยู่มานาน และเราไม่เคยสลัดมันหลุดพ้น เราโตมากับมันจนเราเคยชิน ลืมที่จะตั้งคำถาม หรือบางทีเราตั้งคำถาม แต่กลัวที่จะตอบ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเราจะเสียประโยชน์จากสิ่งนั้นแน่ๆ หากตั้งใจหาคำตอบหรือหาทางคลี่คลาย เลยปล่อยให้มันคาไว้ เพราะยังไงเราก็ไม่เดือดร้อน
ใช่ๆ เราเป็นคนแบบนี้กันนั่นแหละ
จึงไม่แปลก หากเราจะเกิดอาการสะดุ้งสะเทือน โดนกระทบกระเทียบให้เจ็บแปลบหัวใจเล่นๆ หากโดนหนักเข้าจะพานปิดหนังสือทิ้ง หนีความจริง แล้วกลับไปอ่านคำคมคายสไตล์ธรรมะในหนึ่งย่อหน้ากันต่อ ใครจะไปทนโดนด่าอยู่ได้ตั้งสามร้อยกว่าหน้าล่ะจริงมั้ย
หลังๆ มานี้ เรามีความสุขกับชีวิตในเมืองแห่งนี้น้อยลงทุกวัน ที่กลับกันคือตั้งคำถามมากขึ้น เห็นอะไรก็หงุดหงิดไปหมด พออ่านเล่มนี้จบ ก็เป็นตะคริวสมชื่อ คือไอ้ที่ปวดเกร็งมันแข็งไปเลย หนึบหนับหน่วง จะยืดก็ไม่ได้ จะหดก็เจ็บ ต้องปล่อยให้ตะคริวมันกินไปแบบนี้ ทิ้งไว้ซักพักมันจะคลาย เราหนีอาการตะคริวกินไม่ได้ คล้ายที่เราไม่รู้ว่าว่าหยุดสะอึกเมื่อไหร่ ยังไงก็ต้องอยู่ด้วยกันไปอย่างนี้
ก็ประมาณนั้นแหละค่ะ ชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในบ้านเมืองแสนสุขแห่งนี้
0 comments: