Sing Street: แด่การเติบโตและคนรุ่นที่แล้ว

9:10 PM NidNok Koppoets 0 Comments

Sing Street

(2016, John Carney, A) 



- น่าจะเป็นหนังของ John Carney ที่เราสนุกกับมันที่สุด คือด้วยตัวหนัง วัยของมัน ฉากหลัง พลอททั้งหมด เอื้อให้มันเป็นหนังสนุกอยู่แล้ว บวกกับความชอบหนังแบบ Coming of Age ของตัวเองเข้าไปอีก เลยทำให้ยิ่งสนุก และชอบ Sing Street มากเข้าไปอีก

- มันเป็นหนังฟอร์มวงแบบพวก School of rock ซักซี้ด หรือ Swing girl แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว เพราะมันไม่ได้ไปโฟกัสกับความแปลกแยก ความลูสเซอร์อะไรพวกนั้น ตอนแรกเราคิดว่าหนังจะเล่าแหละ แต่เอาจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันไม่ได้ไปเสียเวลากับตรงการฟอร์มวง หรือเน้นความเนิร์ด ความกีค ความเละๆ เทะๆ ของไอ้พวกนี้ แต่ทรีทตัวละครเป็นนักดนตรีที่พอใช้ได้ เป็นวงที่โอเควงนึง แล้วให้เวลากับการฉายภาพให้เห็น กระบวนการสร้างเพลงเพลงนึง ว่ามันเป็นชิ้นส่วนของชีวิตศิลปินเหล่านั้นยังไง และมันทำให้ศิลปินเติบโตไปยังไง

- ได้อ่านสัมภาษณ์ของ John Carney เขาบอกเอาไว้ว่าอยากให้คนได้ดู creative process ของศิลปิน ซึ่งมันก็จะเริ่มจากตอนที่เป็นวงโรงเรียนนี่แหละ วัตถุดิบที่จะหยิบจับมาทำเป็นเพลงมันก็ไม่ได้มีมาก ถ้าชีวิตราบรื่นมาก วัตถุดิบก็อาจน้อย แต่ถ้าชีวิตมันชักจะหวานขม หรือที่ในหนังเรียกว่า Happy-sad เพลงก็จะมีเรื่องเล่า มีอารมณ์ กระบวนการสร้างงานศิลปะซักชิ้น ต้องประกอบขึ้นจากประสบการณ์ จากการเผชิญหน้า จากการใช้ชีวิต จากการได้เป็นมนุษย์

- ฉากหลังของหนังเซทไว้ว่าอยู่ในยุค 80 วัยรุ่นวง Sing Street ก็คือคนรุ่นพี่ หรือน้าของเรา เราว่ายุคสมัยมันสำคัญ และน่าสนใจมาก เพราะการเติบโตของวัยรุ่นในต่างยุคสมัย ยังไงก็ต่างกันในรายละเอียด แต่น่าสนใจพอกัน

- ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก เมื่อหนังทำให้เราเห็นว่า ไอร์แลนด์ในยุคสมัยนั้นมันไร้ซึ่งความหวัง เมืองทำลายความฝันของหลายชีวิต ใครที่พอมีลู่ทาง ก็ขอไปหาโอกาสเอาดาบหน้าที่อื่นจะดีกว่า มันเป็นความฝันแบบดั้นด้นดิ้นรนดิบๆ แบบที่คนเจนวายอาจจะไม่คุ้นเคยเท่าไหร่

- คนเรามันก็ต้องดิ้นรนกันทุกยุคสมัยแหละ แค่ว่าในรายละเอียดเราดิ้นรนกันคนละแบบเท่านั้นเอง

- มีฉากนึงที่เราชอบมาก คือเป็นตอนที่คอนเนอร์ (Ferdia Walsh-Peelo) คุยกับเบรนแดนพี่ชาย (Jack Reynor) แล้วเบรนแดน (ที่คอนเนอร์มองเป็นเหมือนพระเจ้า ไว้ใจให้เป็นที่ปรึกษา เป็นกูรูของชีวิต) บอกกับเขา ว่าคอนเนอร์เพียงแค่เดินตามทางที่พี่ชายถางเอาไว้ให้ ลูกคนเล็กที่เกิดมาในตอนพ่อแม่โอเคแล้ว ไม่ได้ต้องรับรู้หรือผ่านช่วงเวลายากลำบากของการก่อร่างสร้างครอบครัวเหมือนที่เขาต้องเจอหรอก

- เราชอบประเด็นนี้ (ที่ไม่ค่อยได้เห็นในเรื่องอื่นเท่าไหร่) เราคิดถึงพี่ชาย ที่มันคงอยากพูดเหมือนกับที่เบรนแดนพูด เราเป็นลูกคนเล็ก ที่แม้ชีวิตจะไม่ได้สบาย แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าลำบาก พ่อแม่ตามใจเราได้หลายอย่าง เพราะว่าครอบครัวโอเคแล้ว แต่กับพี่ชายที่แก่กว่าเราเป็นสิบปี ต้องผ่านเวลาที่พ่อแม่ลำบากสุดๆ ซีนอารมณ์สุดๆ ต้องเสียสละ และทิ้งโอกาสบางอย่างในชีวิตไป มันอาจเป็นบาดแผลในการเติบโตของเขาก็ได้

- แต่มันเป็นความผิดของเรา หรือคอนเนอร์เหรอ ก็ไม่ใช่หรอก เพราะไม่มีใครเลือกตั้งแต่เกิดได้ว่าอยากได้คอนดิชั่นในชีวิตเป็นแบบไหน เราก็แค่คว้าโอกาสเท่าที่จะพอจับหาได้ในชีวิต แล้วทำมันให้เต็มที่ เท่าที่ชีวิตจะให้เรามา

- การขับรถไปส่ง และร่ำลาน้องชายที่ท่าเรือของเบรนแดน มันเลยดีมาก และเรารู้สึกกับฉากนั้นมากๆ ไม่มีการกอดลา แต่เรารู้ว่าพี่ชายคงเอาใจช่วยและอวยพรเราอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่ง และเราก็หวังว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีเช่นกัน

- อีกฉากที่ชอบคือตอนเพลง To Find You อันนั้นทำงานดีมาก น้ำตาซึมเลย ฮือออ (ไปดูเองนะ)

- แต่กลายเป็นว่าเพลงที่ชอบสุดคือ Riddle of the model 5555 โคตรดี

- ประเด็นเรื่องโรงเรียนเราเฉยๆ ชาวไทยก็อาจจะเฉยๆ เพราะแต่ละคนเจอมาหนักกว่านี้แน่นอน และเจ้าเด็กในเรื่องก็ตอบโต้ครูไม่แซ่บเท่าที่ฮอร์โมนได้ทำเอาไว้ กะอีแค่ให้ใส่รองเท้าดำ จะไปสู้บัตตาเลียนกร้อนผมตอนเช้า กับเอาปากกาเคมีเขียนขากางเกงได้ยังไง

- ในตอนท้ายของหนัง ที่ขึ้นคำอุทิศให้ว่า To all brothers เลยอยากให้เปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นเมืองไทยว่า "แด่ทุกโรงเรียนในประเทศนี้" เย้

- น้อง Ferdia ก็ดีนะ ยิ่งช่วงท้ายๆ ที่น้องจับกีตาร์ร้องเพลงไปด้วยนั่นยิ่งดี แต่เอม่อน (Mark McKenna) นี่คือเท่สุดๆ แล้ว โอย ขอตามเป็นติ่งน้อง

- ทั้งหมดทั้งมวลคือการสรรเสริญ ชวนให้ไปดู ถ้าไม่ได้ชอบเพลง คุณจะสนุกกับหนัง แต่ถ้าชอบหนัง คุณจะรักเพลงตามไปด้วย ดี ไปดูเถอะ

0 comments: