พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

8:13 PM NidNok Koppoets 0 Comments


พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

(2559, วีรพร นิติประภา, สำนักพิมพ์มติชน) 


 
ตรงหน้าคือทีวีที่ยังเล่นฉายภาพและเพลงซ้ำๆ ในช่วงนี้ เสียงเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงจากบ้านหลังตรงข้ามดังลั่นแม้นั่นจะเป็นเวลาใกล้สองทุ่มแล้ว หยิบหนั
งสือสีไม่ดำสนิท ที่ปกมีรูปถ่ายน่าสนใจขึ้นมาอ่าน ท่ามกลางความโช้งเช้งที่รบกวน สุดท้ายอ่านไปได้ไม่ถึงบทดีก็ต้องยอมแพ้ คิดว่าคงไม่ถูกโฉลกกับเล่มนี้แน่ๆ

พอสามทุ่มกว่าน้ำอาบจนตัวหอมด้วยกลิ่นสบู่ราคาถูกที่เราชอบ แล้วจึงนั่งบนเก้าอี้โยกที่อุตส่าห์เก็บเงินซื้อมาเพื่อเอาไว้นั่งอ่านหนังสือโดยเฉพาะ ก่อนที่สองสามเดือนหลังจากนั้นจะย้ายไปนั่งขดบนโซฟาแข็งๆ ที่คอนโดเพื่ออ่านหนังสือแทน เก้าอี้โยกตัวนี้จึงเป็นเหตุผลลำดับต้นๆ เสมอที่ทำให้อยากกลับบ้านในวันหยุด เสียงเคาะคีย์บอร์ดก๊อกๆ แก๊กๆ จากเอกชัยที่นั่งง่วนทำงานอยู่บนโต๊ะใกล้ๆ ไม่ได้รบกวนเรามากนัก จากนั้นจึงให้โอกาสหนังสือปกดำเล่มเดิมอีกที เริ่มอ่านใหม่ตั้งแต่ต้น พลิกหน้ากระดาษคอยเอ็นดูหนูดาวและยายศรี โดยไม่รู้เลยว่าพอพลิกหน้าเริ่มสู่บทต่อไป เราจะเหมือนนั่งอยู่บนรถไฟเหาะที่กำลังไหลลงเบื้องล่างอย่างรวดเร็วแบบที่เราคว้าเกาะอะไรได้เราก็เกาะ รถไฟพาเราไหลลงสู่ความทรงจำอันไม่ปะติดปะต่อ ขาดวิ่นครึ่งๆ กลางๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็เศร้าจนอดจะร้องไห้ไม่ได้ไปหลายหน เราเหมือนเป็นดีเจอพี่อ้อยที่มีคนโทรมาเล่าเรื่องเศร้าให้ฟังแบบไม่ได้หยุดพัก เป็นเรื่องเศร้าที่เราเข้าไปช่วยแก้อะไรไม่ได้ เพราะมันได้เกิดและจบไปแล้ว เขาแค่เล่าให้เราได้ทอดถอนหายใจ ได้หม่นหมอง ก่อนจะพาเข้าสู่เรื่องเศร้าเรื่องใหม่ ใจคอทำด้วยอะไรกัน

ระหว่างอ่านก็มีภาพแว้บขึ้นมา เป็นตัวเราตอนเด็กๆ ในบ้านไม้ของคุณตาที่ระนองที่กลายเป็นของคุณป้าใหญ่ไปอีกที แม่เปิดอัลบั้มภาพเก่าๆ แล้วเล่าเรื่องโน้นนี้ให้เราฟัง เล่าว่าแต่ก่อนอาก๋งมาจากไหน คุณตาทำโรงไม้หรืออะไรซักอย่าง แล้วก็มีผิดใจกันระหว่างพี่น้อง เลยแยกย้ายกันทำธุรกิจนับจากนั้น คุณยายแต่งงานตั้งแต่อายุสิบสองและมีลูกเก้าคน แม่ในตอนเด็กและพี่น้อง เลยมาจนถึงรุ่นลูกของพี่น้องแม่อีกที ทั้งหมดนี้เป็นประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา ที่มีเพียงภาพถ่ายและเรื่องเล่าเท่านั้นที่จะบันทึกไว้ ไม่มีใครจะเสียเวลามาสืบเสาะ ค้นหา และบันทึกประวัติศาสตร์ของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งจากเป็นสิบเป็นล้านครอบครัว เราจึงต้องเล่าสืบกันไปอย่างนี้ แม้บางทีเรื่องเล่าของเราจะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบภาพเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เห็นในหนังสือประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่มันก็จะไม่ได้สำคัญอะไร เป็นเพียงชิ้นส่วนที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องเล่าที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เป็นสีสันให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นสนุกขึ้นเล็กน้อย พอให้ขำขันแล้วคนก็จะลืมไป จนเมื่อไหร่ที่เกร็ดเล็กน้อยพวกนี้ได้เข้าไปอยุ่ในหนังสือตำรานั่นล่ะ คนเขาถึงจะสนิทใจและเชื่อบูชา

เรื่องเล่าของครอบครัวนายตงบนแผ่นดินสยามทำให้เรานึกถึงตอนที่ให้อากงของเอกชัยเล่าถึงบ้านที่เมืองจีนให้ฟัง ตอนนั้นคิดแค่ว่าสนุกดี แต่ระหว่างอ่านเล่มนี้ความรู้สึกก็เพิ่มเติมขึ้น ที่ผ่านมาเรามองจากสายตาของคนรุ่นที่ความเป็นคนไทยแทบจะถูกกลืนเป็นเนื้อเดียว เรารู้ว่าเพื่อนมีเชื้อสายจีนจากที่มันเรียกพ่อว่าป๊า เรียกปู่ว่าอากง นอกนั้นเราก็ตั้งโต๊ะไหว้วันสารทจีนด้วยการเสิร์ชหาในอินเตอร์เน็ต และแชร์ข่าวพฤติกรรมตลกๆ ที่เกิดในเมืองจีนเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้จึงทำให้เราได้เข้าใจความคิดของคุณก๋ง คุณตาเราอีกนิด เรื่องราวคงไม่ได้ซ้ำกับนายตงเขาหรอก แต่มันคงมีความขมข่นบางอย่างที่รสชาติไม่ต่างกันนัก

อันที่จริงผู้อ่านถือว่าได้รับความปรานีจากคุณวีรพรผู้เขียนมากแล้ว เพราะอย่างน้อยเราก็ได้รับรู้ชะตากรรมของหลายตัวละครไปจนถึงจุดจบ ปิดม่านฉากชีวิตของตัวละครนั้นๆ ไปแบบไม่ต้องเหลือให้คาใจ แต่กับตัวละครที่มีชีวิตอยู่ในเรื่องนั้นกลับไม่ได้รู้ชะตากรรมของคนที่ผ่านเข้ามาเกี่ยวพันในชีวิตว่าสุดท้ายแล้วเราไปอยู่ไหน เป็นอย่างไร เหมือนเราในตอนนี้ ที่ถ้าเกิดนึกถึงชื่อเพื่อนสมัยประถมขึ้นมาได้ ก็จะเอาชื่อไปค้นหาจนเจอเฟซบุ๊กแล้วเข้าไปส่องดูว่าเขามีชีวิตที่สบายดี บางทีคนเราจากกันไปโดยไม่ได้ชำระสิ่งที่คาใจต่อกัน ไม่ได้ติดตามข่าวสารชีวิตของกัน เหมือนกับว่า ภาพสุดท้าย เสียงสุดท้าย ที่เราได้เห็นคนคนนั้น นั่นคือสุดสิ้นสุดชีวิตของเขาสำหรับเราไปแล้ว เราตายจากโดยไม่ได้เข้าใจต่อกันอย่างถ่องแท้ โกรธเกลียดกันข้ามชาติเลยก็มี ทั้งที่แค่อินบ็อกซ์ไปขอโทษขอโพย หรือนัดเจอเพื่อปรับความเข้าใจในร้านดีนแอนด์เดลูกาก็น่าจะทำให้เราไม่ต้องมีอะไรติดค้างใจกันไปได้

ผิ่งมุ่ยและจดหมายสิบหกหน้าจึงสะเทือนใจมากสำหรับเรา

ในสุดท้ายที่หนังสือให้ความหวังและทำลายมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนให้เราเดินถอยหลังจนไม่รู้จะถอยยังไงเพราะด้านหลังเป็นกำแพงดำทึบ แต่ยังมีความหวังอยู่หน่อยเพราะยังพอมองเห็นช่องประตูที่มีแสงสาดเข้ามา หนังสือกลับจบลงโดยปิดประตูนั้นทิ้งเสีย เรามีความหวังทุกครั้งที่ได้เห็นชีวิตกำเนิดใหม่ เด็กน้อยจะเป็นตัวแทนของอนาคตเสมอ ดังนั้นแม้เรื่องมันจะเศร้า แต่มันก็ยังหลงเหลือความหวังไว้ให้เราทุกครั้ง ผ่านฮง ผ่านจรัสแสง ผ่านระพินทร์ ระริน และหนูดาว แต่เมื่อหน้ากระดาษสุดท้ายสิ้นสุด เราก็พบว่าตัวเราอกหักเสียยิ่งกว่าตอนที่ไปบอกชอบผู้ชายแล้วเขาไม่ชอบกลับ โดนทำลายความหวังจนหมดแรง ขนาดสิ่งสุดท้ายที่เหลือ ที่เป็นความชุ่มชื่นใจมาตั้งแต่ต้น ยังโดนพรากเอาไปถึงขนาดนี้ นี่เราจะอ่านหนังสือความยาวสี่ร้อยกว่าหน้า ให้เขาเพียรทำร้ายแล้วทำร้ายอีกทำไม (วะเนี่ย)

ยิ่งพอคิดว่า ยังมีเรื่องเล่าคู่เคียงไปกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก จากการเล่าสืบกันมาของครอบครัวอีกเป็นหมื่นเป็นล้านเรื่องเล่า ที่มีทั้งสุขและเศร้าคละเคล้า เป็นเรื่องจริงของผู้คนที่พยายามจะมีชีวิตให้ผ่านพ้นเงื่อนไขบรรดามีเท่าที่โลกในตอนนั้นจะหยิบยื่นให้ เท่าที่ชีวิตจะมอบกำลังให้ต่อสู้ เท่าที่โชคชะตาจะอำนวยตามแต่บุญกรรมและการสวดอ้อนวอน ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตจริงๆ แล้วมันเศร้านะ แต่ที่น่าเศร้ากว่า คงเป็นการที่เรื่องเศร้าไม่ได้ถูกเล่า ไม่ได้ถูกพูดถึงหรือแม้แต่นึกถึง เป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วจากไปอย่างเงียบเชียบ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของใครหรืออะไร เป็นตัวละครที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ

อย่างที่เราทำมาตลอด กับการไม่ให้คุณค่าความสำคัญกับชีวิตเล็กๆ ในสายธารประวัติศาสตร์เลย
 
 

0 comments: